ชาวสวนยางต้านจ่ายค่าโง่ซีพี

18 ก.พ. 2561 | 05:44 น.
สวนยางฮือเบรกเครือซีพีรีดภาษีประชาชน 1,700 ล้าน ใช้ค่าเสียหายกล้ายางล้านไร่ เตรียมล่ารายชื่อเรียกค่าเสียหายจากบริษัทส่งมอบยางไม่มีคุณภาพบ้าง “อุทัย” แฉกลับบริษัทผิดสัญญากลับลำฟ้อง “กฤษฎา” มึน สั่งทีมกฎหมายตีความคำพิพากษา

กรณีศาลฎีกามีคำพิพากษาให้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ชนะคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรมวิชาการเกษตร 1,700 ล้านบาท จากการถูกระงับการส่งมอบต้นกล้ายางสร้างความเสียหายและกระทบภาพลักษณ์ของบริษัทนั้น

นายทรงศักดิ์ ประจงจัด นายกสมาคมชาวสวนยาง จังหวัดเลย ในฐานะพยานฝ่ายบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการยางล้านไร่(ปี 2547-2549)เกิดขึ้นจากความต้องการของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ที่ต้องการมีรายได้ดีเหมือนสวนยางในภาคใต้ ซึ่งขณะนั้นราคายางดีมาก จึงเป็นหนึ่ง ในแกนนำที่เข้าไปนำเสนอโครงการนี้และรัฐบาลได้เห็นชอบและมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปคัดเลือกผู้ผลิตและส่งมอบต้นกล้ายางชำถุง 90 ล้านต้นให้กับเกษตรกรในโครงการ แบ่งเป็นภาคอีสาน 7 แสนไร่ ภาคเหนือ 3 แสนไร่ โดยเครือซีพีชนะการประมูล

“จำได้ว่าต้นกล้ายางที่เกษตรกรนำไปปลูกมีปัญหา ต้นยางตายจำนวนมาก และบางส่วนก็ออกดอกจากเป็นยางตาสอย (เครือซีพีไม่ได้ผลิต แต่ไปกว้านซื้อ ยางมาส่งมอบ ยางจึงไม่ได้คุณภาพ) ผมได้นำม็อบเดินทางไปที่บริษัทเพื่อให้รับผิดชอบและชดเชยต้นยางที่ตายกว่า 1 ล้านต้นให้เกษตรกร การเรียกร้องครั้งนั้นได้กล้ายางมาปลูกทดแทนและได้ปุ๋ย 1 ถุงต่อ 1 ไร่ในขณะนั้นเกษตรกรพอใจ”

อย่างไรก็ดีในปี 2549 มีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลใหม่ (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(นายธีระ วงศ์สมุทร)ได้สั่งให้กรมวิชาการเกษตรยกเลิกสัญญากับเครือซีพี เนื่องจากไม่สามารถส่งมอบกล้ายางได้ทันกำหนดและได้แจกคูปองต้นกล้ายาง ในราคาโครงการ 16 บาทต่อต้นให้เกษตรกรไปเลือกซื้อที่ไหนก็ได้ ซึ่งขณะนั้นซีพีลงทุนผลิตกล้ายางที่จะส่งมอบในโครงการกว่า 16 ล้านต้นเป็นยางที่มีคุณภาพตามที่เกษตรกรต้องการจึงไปขอให้รัฐบาลไม่แบล็กลิสต์ซีพี แต่ให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่เกษตรกรจะไปเลือกซื้อได้ ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรก็เลือกซื้อของซีพี เพราะราคานอกโครงการสูงมากกว่าเท่าตัว ทุกคนยอมจ่ายส่วนต่างเพิ่ม จึงถามว่าบริษัทเสียหายตรงไหน?

“ในช่วงปี 2549 หลังจากที่บริษัทได้ไปปรับปรุงการผลิตสามารถผลิตกล้ายางได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของชาวสวน ส่วนผลกรรมสืบเนื่องจากกล้ายางที่บริษัทนำมาส่งมอบในปี 2547-2548 ตกอยู่กับเกษตรกรจำนวนมากในภาคอีสานที่ผลผลิตตํ่า เนื่องจากเป็นยางตาสอย ให้นํ้ายางน้อย เรื่องนี้ใครจะรับผิดชอบ ไม่คิดว่าบริษัทจะมาฟ้องกลับ ทั้งที่ควรจะจบกันไป”

[caption id="attachment_123528" align="aligncenter" width="503"] นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์[/caption]

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และอดีตประธานสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่ารู้สึกผิดหวัง ที่บริษัทมาเรียกร้องค่าเสียหายทั้งที่ควรจะจบหลังจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อปี 2552 ยกฟ้องคดีทุจริตยางล้านไร่ที่มีทั้งนักการเมือง ข้าราชการ เกษตรกรและเอกชนรวม 44 รายเป็นผู้ถูกกล่าวหา จากไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ฮั้วประมูล ขณะที่ในครั้งนั้นบริษัทผิดสัญญาจริง ส่งมอบยางล่าช้า และเป็นยางตาสอย หลังเลิกสัญญากล้ายางที่ซีพีผลิตก็ขายหมดได้ราคาดีด้วย ยืนยันว่าบริษัท ไม่ได้เสียหาย ส่วนเงินที่กรมวิชาการเกษตรจะจ่าย เป็นเงินภาษีของประชาชน 70 ล้านคนขณะที่รัฐบาลต้องการงบไปลงทุนพัฒนาประเทศจึงไม่เห็นด้วย

ด้านนายศิริชัย ห่านพิบูลย์พงษ์ เกษตรกรในโครงการยางล้านไร่ จังหวัดเลย เผยว่า ที่ผ่านมาชาวสวนยางไม่คิดจะฟ้องร้องบริษัทเลยที่ส่งมอบกล้ายางไม่มีคุณภาพได้ผลผลิตน้อยจนถึงทุกวันนี้ แต่เมื่อทราบข่าวว่าบริษัทฟ้องกลับกรมวิชาการเกษตร เรียกค่าเสียหาย จึงตัดสินใจที่จะรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายเพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจากทางบริษัทให้รับผิดชอบบ้าง
Ad_Online-03-503x62
ขณะที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เครือซีพีชนะคดีแล้ว ได้ให้ฝ่ายกฎหมายไปดูข้อกฎหมายต่างๆให้ชัดเจนก่อนว่าจะต้องทำอย่างไรต่อผลคำพิพากษานี้

[caption id="attachment_255963" align="aligncenter" width="503"] กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[/caption]

อนึ่ง โครงการยางล้านไร่ เป็นโครงการภายใต้รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร สำหรับการส่งมอบกล้ายางเป็นสัญญาระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับ บจก.เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ ซึ่งในครั้งนั้นมีนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ เป็นอธิบดี ขณะที่กรรมการพิจารณาตัดสินผลการประกวดราคาที่ให้เครือซีพีชนะการประมูลในปี 2546 มี 5 คน ประกอบด้วย นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อดีตรองอธิบดีกรมส่งส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานคณะ ปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อดีตเลขานุการกรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมการข้าว นายจิรากร โกศัยเสวี อดีตผู้อำนวยการ กองการเจ้าหน้าที่ (เกษียณอายุในตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรปี 2555) ปัจจุบันเป็นผู้บริหารในเครือธุรกิจซีพี นายจำนงค์ คงสิน อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา และนายสมบัติ ยั่งยืน อดีตเจ้าหน้าที่บริหารพัสดุ 6

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,340 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว