มิตซูบิชิ ปักธงรบปี59 ชูกลยุทธ์หลัก 4 ข้อ

16 ม.ค. 2559 | 10:00 น.
สร้างกระแสความคึกคักให้กับตลาดรถยนต์ในช่วงปลายปี 2558 ไม่น้อย เมื่อค่ายมิตซูบิชิ เปิดตัวรถพีพีวีรุ่นปาเจโร สปอร์ต ใหม่ แถมทำยอดจองได้อย่างถล่มทลาย หลังจากนั้นในเดือนธันวาคมมีการเปิดตัวอีโคคาร์อย่างมิราจ ใหม่ ซึ่งเป็นรถในโครงการอีโคคาร์ เฟส 1 แต่สามารถพัฒนาให้เข้ากับเงื่อนไขของโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 ได้ ส่งผลให้ภาษีสรรพสามิตที่แต่เดิมจะต้องเสีย 17% ก็ลดลงอยู่ที่ 14 % และแม้มิตซูบิชิจะไม่ได้ปรับราคาให้ลดลง แต่ได้มีการจัดเต็มออพชัน เรียกได้ว่าจัดแนวรุกในช่วงปลายปีได้อย่างดุเดือด

ส่วนแผนงานในปี 2559 ของมิตซูบิชิจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอะไรบ้าง หรือมีกลยุทธ์อะไรมาขับเคลื่อน รวมไปถึงเป้าหมายส่วนแบ่งทางการตลาดและยอดขายที่วาดหวังไว้จะอยู่ที่เท่าไร วันนี้ นายใหญ่ โมะริคาซุ ชกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัดจะมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

 แผนงานด้านผลิตภัณฑ์

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลคม 2558 มีการเปิดตัวปาเจโร สปอร์ต ใหม่ และได้รับการตอบรับจากลูกค้าคนไทยเป็นอย่างดี ซึ่งบริษัทได้ทยอยส่งมอบรถให้กับลูกค้า โดยตัวเลขยอดขายของรถในรุ่นนี้ทำได้แล้วกว่า 1.4 หมื่นคัน หลังจากนั้นในเดือนธันวาคม ได้เปิดตัวมิราจ ใหม่ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป และในเดือนมกราคม 2559 ได้ทำการเปิดตัวรถ 2 รุ่นคือไทรทัน 2016 และแอททราจ 2016 สำหรับไทรทันใหม่มีการเพิ่มออพชัน โดยมีไฮไลต์ อาทิ รุ่นดับเบิลแค็บ ขับเคลื่อน 2 ล้อ 2.4ลิตร ไมเวค จีแอลเอ็กซ์ ราคา 7.59 แสนบาท ,รุ่นดับเบิลแค็บ ขับเคลื่อน 2 ล้อ 2.4 ลิตร ไมเวค จีแอลเอส –แอลทีดี ราคา 8.09 แสนบาท

ส่วนแอททราจ ใหม่ มีจุดเด่น อาทิ ประหยัดน้ำมันสูงขึ้น 23.3 กิโลเมตรต่อลิตร และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำสุดเพียง 99 กรัมต่อกิโลเมตร และยังผ่านการรองรับมาตรฐานมลพิษระดับ 5 ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ผ่านข้อกำหนดทางเทคนิคของรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ อีโค คาร์ รุ่นที่ 2 ของรัฐบาลไทย สนนราคา 4.56 -5.94 แสนบาท และลูกค้าจะได้สัมผัสกับรถที่โชว์รูมตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมนี้

ขณะที่ปาเจโร สปอร์ต จะมีการปรับราคาขึ้นมา 1.9- 2 หมื่นบาทเท่านั้น ซึ่งจะเป็นราคาที่บริษัทตั้งไว้จนถึงมีนาคม 2559เท่านั้น เพราะหากคำนวณจากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่และเก็บตามเงื่อนไขจริงๆราคาที่ปรับขึ้นมาจะอยู่ที่ 7-9 หมื่นบาท

 เป้าหมายส่วนแบ่งการตลาด

รถรุ่นใหม่ที่ได้ทำการเปิดตัวไปนั้น จะทำให้เป้าหมายส่วนแบ่งทางการตลาดที่วางไว้เพิ่มขึ้น โดยมิตซูบิชิตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งทางการตลาดในปีงบประมาณ 2558 ไว้ที่ 8% เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2557 ที่ทำได้ 7.3 % และเป้าหมายในปีงบประมาณ 2559 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9% ขณะที่ยอดขายของมิตซูบิชิมีตัวเลขการขายตั้งแต่มกราคม-ธันวาคม 2558 จำนวน 59,820 คัน ลดลง 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่ขายได้ 62,855 คัน

 สิ่งที่มิตซูบิชิจะเน้นย้ำในปีนี้

ข้อที่ 1 คือผลิตภัณฑ์ จะมีรถจำหน่ายครบทุกเซ็กเมนต์ ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า ทั้งรถกระบะ,รถอเนกประสงค์พีพีวี ,รถอีโคคาร์ ข้อที่ 2 คือการบริการหลังการขาย ปัจจุบันมิตซูบิชิมีโชว์รูมและศูนย์บริการกว่า 220 แห่งทั่วประเทศ และได้มีการปรับโฉมโชว์รูมใหม่ตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว และปีนี้ก็ยังคงเดินหน้าปรับปรุงต่อเนื่อง นอกจากนั้นแล้วจะมีการปรับปรุงราคาอะไหล่ ชิ้นส่วน การซ่อมบำรุง ค่าแรงต่างๆให้สามารถแข่งขัน

ข้อที่3 แบรนดิ้ง โดยมิตซูบิชิอยู่ในประเทศไทยมากว่า 55ปี ถือว่าอยู่มานานและเป็นที่รู้จักของลูกค้าคนไทย ซึ่งแผนงานในปีนี้จะมีการสื่อสารกับลูกค้าว่ามิตซูบิชิจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของลูกค้า และข้อที่4 ความสำคัญของฐานการผลิตในไทย ปัจจุบันไทยผลิตและจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และหากมองในแง่ภาพรวมระดับโลกของมิตซูบิชิ ก็จะพบว่าฐานผลิตระดับโลกมี 2 แห่งนั้นก็คือที่ญี่ปุ่น และอีก 1 แห่งคือไทย ดังนั้นจะมีการเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับฐานการผลิตในไทย ซึ่งถือเป็นนโยบายที่มิตซูบิชิทำมาตั้งแต่แรกและจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

 ภาพรวมตลาดรถยนต์ในปี 2559

ตลาดรวมรถยนต์ในปีนี้ตอบยาก แต่โดยรวมๆสถานการณ์ยังไม่ค่อยสดใส เพราะโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ทำให้ดีมานด์ส่วนหนึ่งถูกดึงไปซื้อตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม 2558ที่คาดว่าตัวเลขการขายจะสูงมาก ส่วนในเดือนมกราคมตัวเลขก็จะชะลอ คาดว่าในเดือนมีนาคมกำลังซื้อน่าจะเริ่มทยอยกลับมา และในช่วงครึ่งปีหลังก็คาดว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางฝั่งภาครัฐออกมา โดยมิตซูบิชิ คาดว่าภาพรวมตัวเลขการขายของปีนี้กับปีที่แล้วไม่น่าจะดีขึ้นมากนัก

 แผนงานด้านส่งออก

มิตซูบิชิมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 4.2 แสนคัน แต่ผลิตจริงๆในตอนนี้ไม่ถึง 4 แสนคัน โดยแบ่งสัดส่วน 85% เป็นการผลิตเพื่อส่งออก และอีก 15% ป้อนตลาดในประเทศ สำหรับเป้าหมายในการส่งออกในปีงบประมาณ 2558 คาดว่าจะทำได้ 3.4 แสนคัน และในปีนี้จะมีการผลิตรถกระบะป้อนให้กับแบรนด์เฟียต ซึ่งในเบื้องต้นจะส่งไป 2 หมื่นคัน

 ปัจจัยเสี่ยงปีนี้

ปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ อาทิ ภัยแล้ง,การขาดแคลนน้ำ,เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน อาทิ จีนที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินหยวน อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกที่เห็นก็มีอาทิ การลงทุนจากภาครัฐการสนับสนุนในโครงการเอสเอ็มอีหรือ การช่วยเหลือภาคเกษตร น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ และปัจจัยที่อยากให้ภาครัฐช่วยดูแลคือเรื่องค่าเงิน,อัตราแลกเปลี่ยน ให้มีความคงที่เพราะจะมีผลต่อการส่งออก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559