พาณิชย์เตรียมหารือญี่ปุ่น กระชับสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

13 ก.พ. 2561 | 04:29 น.
 

‘พาณิชย์’ เตรียมหารือญี่ปุ่นกระชับสัมพันธ์ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (H.E. Mr. Shiro SADOSHIMA) มีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางสาวชุติมา บุณยประภัศร) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งและเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน

[caption id="attachment_258758" align="aligncenter" width="503"] นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์[/caption]

นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมีความสำคัญในฐานะเป็นนักลงทุนอันดับ 1 และคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นในทุกระดับ ครอบคลุมรอบด้านทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม มากว่า 600 ปี ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าและเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ดีในหลายด้าน โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคการผลิตและภาคบริการของไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยได้มีการพัฒนากลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น ทั้งด้านการเปิดเสรีทางการค้าและพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหลายระดับ ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) รวมทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับความตกลง AJCEP อาเซียนและญี่ปุ่นสามารถบรรลุการเจรจาความตกลงด้านการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน เมื่อเดือนธันวาคม 2560 และตั้งเป้าหมายจะลงนามความตกลงด้านการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ภายในปลายปีนี้ โดยความตกลงดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถเข้าไปลงทุนในสาขาบริการต่างๆ ที่ไทยมีศักยภาพในญี่ปุ่นได้ 100 % เช่น การโฆษณา การจัดเลี้ยง การจัดประชุม บริการทัวร์และไกด์ จัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ โรงแรม สปา อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร การวิจัยและการพัฒนา การซ่อมแซมและบำรุงรักษาอากาศยาน และจัดจำหน่าย เป็นต้น ในขณะที่ไทยได้เปิดให้นักลงทุนของญี่ปุ่นและอาเซียนเข้ามาประกอบธุรกิจได้ในสาขาบริการ เช่น บริการธุรกิจ โทรคมนาคม การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ร้อยละ 49 หรือร้อยละ 70 ตามประเภทของธุรกิจ นอกจากนี้ ในด้านการลงทุนความตกลงยังคุ้มครองและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนว่าจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ไม่ถูกเวนคืนการลงทุนโดยไม่มีเหตุอันควร และสามารถโอนเงินเข้า-ออกจากประเทศได้อย่างเสรี รวมถึงให้มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านการลงทุนที่โปร่งใสและทั่วถึง ทำให้กระบวนการยื่นและอนุมัติลงทุนง่ายขึ้น

AW_Online-03 ส่วนความตกลง JTEPA ซึ่งมีผลบังคับใช้มาแล้ว 10 ปี มีส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2550 ที่ความตกลงฯ เริ่มมีผลใช้บังคับ ไทยและญี่ปุ่นมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 48,166 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 54,346.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันไทยและญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการทบทวนความตกลงซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้ JTEPA ที่กำหนดให้มีการทบทวนทั่วไป (General Review) ภายหลังการมีผลบังคับใช้ 10 ปี (2550-2560) โดยจะครอบคลุมด้านต่างๆ อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน เป็นต้น

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 16 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 8 ของญี่ปุ่น ในปี 2560 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 54,346.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมีมูลค่า 22,309.56 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่า 32,037.33 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว