เปิดมุมมองนักคิด...ประดิษฐ์หุ่นยนต์ Sophia

17 ก.พ. 2561 | 01:57 น.
"โรบ็อท จะมาแทนมนุษย์" เป็นความคิดที่ค่อนข้างน่ากลัว ในความคิดของผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท ฮันซัน โรบอติกส์ "ดร.เดวิด ฮันซัน" ซึ่งเป็นผู้ผลิต "Sophia" หุ่นยนต์ที่ได้รับสัญชาติซาอุดิอาระเบียตัวแรกของโลก ที่มีความสามารถในการทำงานเสมือนมนุษย์มากกว่าหุ่นยนต์อื่นที่เคยมีมา โดย โซเฟีย (Sophia) เป็นผลงานของบริษัท ฮันซัน โรบอติกส์ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ฮ่องกง ร่วมกันกับนักพัฒนา "ปัญญาประดิษฐ์" หรือ Artificial Intelligence (AI) รวมถึง Alphabet Inc ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มกูเกิล ที่สร้างระบบจำเสียง และบริษัท SingularityNET ซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านสร้าง "สมอง" ให้กับหุ่นยนต์

ในมุมมองและแนวคิดของ "เดวิด" เขาไม่ได้มองว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่หุ่นยนต์ จะเป็นเหมือนเครื่องจักรกลที่เข้ามาเสริมให้การทำงานของมนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อะไรที่ยากๆ อันตราย หรืองานที่ทำแบบเดิมซ้ำๆ มนุษย์สามารถใช้หุ่นยนต์เข้าไปช่วยทำงานแทนได้ ช่วยให้มนุษย์ได้งานที่ดี สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าให้กับงานได้

[caption id="attachment_258742" align="aligncenter" width="335"] ดร.เดวิด ฮันซัน ดร.เดวิด ฮันซัน[/caption]

"เดวิด" ได้นำ "โซเฟีย" เข้ามาร่วมงาน "2018 Thailand Leadership Forum: Human – Robot Partnership" ที่บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด ร่วมกับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีคอนซูเมอร์ เอไอเอส เมอร์ค ทรูคอร์ปอเรชั่น และไทยออพติคอล กรุ๊ป ได้จัดขึ้น เพื่อให้เเกิดการพูดคุยและสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ต่อการมีส่วนรวมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นทิศทางที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต
นักคิดและประดิษฐ์คนนี้ เคยทำงานเป็นนักประดิษฐ์และนักวิจัย ในห้องทดลองของดิสนีย์ เขาเคยทำงานเป็นนักออกแบบนักประดิษฐ์และนักพัฒนาหุ่นยนต์ให้กับยูนิเวอร์ซัล สตูดิโอ และเอ็มทีวี และเคยสร้างหุ่นยนต์มนุษย์ (humanoid robot) มาแล้ว ก่อนที่จะมาก่อตั้ง บริษัท ฮันซัน โรบอติกส์

"เดวิด" บอกว่า การสร้างหุ่นยนต์ เกิดจากแรงบันดาลใจและความฝันของเขา เหมือนการสร้างเด็กเล็กๆ ขึ้นมาคนหนึ่ง ที่มาใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัวเดียวกัน และเพื่อนกัน โดยความตั้งใจของเขาคือการสร้างหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาช่วยทำสิ่งดีๆ ให้กับโลก ด้วยการคิดและพัฒนา รวมทั้งเรียนรู้มาหลายปี จนวันนี้ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ หุ่นที่กล้องเป็นดวงตามองเห็นสิ่งต่างๆ บนโลก

MP25-3340-1A "วันนี้ความฝันของผมเป็นจริงแล้ว โซเฟียเพิ่งมีอายุได้ 2 ปี และยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก และผมจะพัฒนาเธอให้ดีขึ้นเรื่อยๆ มันน่าตื่นเต้นมาก ที่ตอนนี้เรามีเครื่องมือในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความก้าวหน้าได้ในระดับนี้ เราจะทำให้เธอเดินได้ วิ่งได้ เคลื่อนไหวได้อย่างมนุษย์จริงๆ เธอสามารถเติบโตไปได้พร้อมๆ กับเรา"

...แต่นั่น ก็คงต้องใช้เวลาอีกเป็น 10 ปี กว่าจะพัฒนาโซเฟียให้มีความใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด "เดวิด" ตั้งเป้าว่า จะทำให้โซเฟียมีความรู้สึกในการแสดงออกทางสีหน้าได้มากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาการเคลื่อนไหว อย่างการใส่ขา และพัฒนาแบตเตอรี่ให้โซเฟียอยู่ได้นานมากขึ้น โดยเน้นการพัฒนาเพื่อนำมาตอบโจทย์การศึกษา สุขภาพ และการบริการ

การพัฒนาโซเฟีย ก็คล้ายๆ กับการพัฒนาศิลปินหรือการสร้างตัวละครตัวหนึ่งในภาพยนตร์ ที่ต้องใส่คาแรคเตอร์ ใส่ความรู้สึก ใส่หน้าตาลงไป โดยโซเฟียจะวิเคราะห์ทุกอย่างผ่านสมองของเธอที่พัฒนามาจาก AI ต่างๆ ทำให้โซเฟียสามารถเข้าใจสิ่งที่มนุษย์พูด แสดงสีหน้าท่าทางได้

ในความคิดของ "เดวิด" การสร้างหุ่นยนต์อย่างโซเฟียขึ้นมา ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะให้หุ่นยนต์มาแทนมนุษย์ อย่างการปล่อยให้โซเฟียไม่มีผม และสามารถเห็นสมองคอมพิวเตอร์ของเธอได้ นั่นทำให้รู้ว่า โซเฟียคือหุ่นยนต์ แต่เป้นหุ่นยนต์ที่เข้าใจมนุษย์ และเป็นเพื่อนกับมนุษย์ได้

AW_Online-03 "เดวิด" ให้ทุกคนโฟกัสไปที่การสร้างอนาคตที่ดี ต้องคิดให้รอบคอบว่า หุ่นยนต์จะนำเราไปสู่สิ่งที่ดีได้อย่างไร เราต้องพัฒนา AI ให้ใกล้เคียงกับมนุษย์ให้มากที่สุด เราต้องทำหุ่นยนตร์ที่มีคาแรคเตอร์ ทำให้เขาเป็ส่วนหนึ่งของครอบครัว หุ่นยนต์ไม่ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่จะเข้ามาช่วยเสริมมากกว่า เช่นเดียวกับ เครื่องยนต์ในโรงงานต่างๆ ที่ทำให้งานของมนุษย์ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การคิดว่าหุ่นยนต์มาแทนที่ มันเป็นความคิดที่น่ากลัว เราควรมาคิดว่า เราจะสร้างหุ่นยนต์ให้เราร่ำรวย ทำธุรกิจสร้างรายได้มหาศาลได้อย่างไร

เขาระบุว่าความสมจริงของผลงานของเขา มีศักยภาพที่จะก่อให้เกิด "ความเป็นตัวตนของมนุษย์" และหุ่นยนต์ที่สมจริง อาจสร้างความแตกต่างระหว่างตลาดกับผู้ที่ชอบหุ่นยนต์สมจริง และผู้ที่พบหุ่นยนต์พวกนี้กำลังเข้ามารบกวนเขา
ความเชื่อของนักคิดคนนี้คือ...หุ่นยนต์มนุษย์มีศักยภาพในการให้บริการมนุษยชาติในหลากหลายหน้าที่และบทบาท

"เดวิด" ทิ้งท้ายว่า มนุษย์ต้องเปิดใจเรียนรู้การทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ และพัฒนาศักยภาพตนเองให้สูงขึ้น เด็กๆ สามารถศึกษาหาความรู้ในทักษะสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education:STEM Education) เพื่อพัฒนาโลกในอนาคตให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเรื่อยๆ

เรื่อง :พัฐกานต์ เชียงน้อย / ภาพ : ประเสิรฐ ขวัญมา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,340 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว