สภาวิศวกรพัฒนาหลักสูตรแผน ข. ผลักดันวิศวกรไทยรองรับตลาด

17 ก.พ. 2561 | 01:12 น.
จากโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของประเทศไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี รวมไปถึงโครงการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (นิว เอสเคิร์ฟ) ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทำให้เกิดอัตราความต้องการช่างฝีมือแรงงาน และวิศวกรสาขาต่างๆ จำนวนมาก

“ศ.ดร.อมร พิมานมาศ” เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวรกรในฐานะผู้ควบคุมและส่งเสริมวิศวกร จึงมีหน้าที่ทั้งพัฒนาคน ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพ พร้อมทั้งทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้กับบรรดาวิศวกรสาขาต่างๆ ขณะนี้ สภาฯ กำลังปรับปรุงและแก้ไขในหลายๆ ส่วน เพื่อผลักดันให้มีวิศวกรที่มีคุณภาพ และมีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ออกสู่ตลาดแรงงานมากที่สุด อย่างน้อยปีละ 1 หมื่นราย

[caption id="attachment_258719" align="aligncenter" width="503"] ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ[/caption]

สิ่งที่กำลังจะได้เห็นเร็วๆ นี้ คือ การพัฒนาหลักสูตรแผน ข. เนื่องจากขณะนี้แรงงานฝีมือขาดแคลนมาก แต่หลักสูตรแผน ก. ที่ใช้อยู่ มีข้อจำกัดในส่วนของอาจารย์ผู้สอนที่ต้องจบปริญญาโท และในหลักสูตรมีแต่ภาควิชาการ แต่ไม่มีหลักสูตรที่ให้นักศึกษาได้ลงฝึกทำงานในพื้นที่จริง ทำให้เด็กจบใหม่มีทักษะและศักยภาพไม่ตรงตามที่บริษัทเอกชนต้องการ โดยจะเริ่มนำร่องกับสาขาโยธาก่อน หลังจากนั้นจะทำให้ครอบคลุมให้ครบ 7 สาขา คือ โยธา ไฟฟ้า เครื่องกล อุตสาหการ เคมี สิ่งแวดล้อม และเหมืองแร่

“เรามาดูว่า งานวิศวกรต้องการ คือ งานคุมงาน งานก่อสร้าง หลักสูตรแผน ข. จึงเน้นการคุมงาน และปีสุดท้าย ไปทำงานในสถานประกอบการได้ ไม่ใช่เรียนเฉพาะในห้อง ต้องได้ทำงานจริง ใช้สถานที่ทำงานจริงเป็นเวิร์กช็อป ตอนนี้เรากำลังพยายามทำให้เกิดการเซ็นเอ็มโอยูกับบริษัทก่อสร้างใหญ่ๆ ถ้าเด็กผ่านตรงนี้ บริษัทก็รับเข้าทำงานเลย”

MP26-3340-2C ส่วนของอาจารย์ผู้สอน สำหรับหลักสูตรแผน ข. จะสามารถนำผู้มีประสบการณ์ทำงาน 6 ปี ที่จบปริญญาตรี เข้ามาเป็นผู้สอนได้ ซึ่งจะทำให้เด็กๆ ได้รับความรู้ตรงจากผู้ที่มีประสบการณ์หน้างาน ต่างจากที่ผ่านมา ที่อาจารย์ผู้สอนบางคนไม่เคยได้สัมผัสงานวิศวะจริงๆ

นอกจากนี้ เรื่องของการสอบขอใบอนุญาต จากที่ผ่านมาคนที่เรียนจบแล้วมีทั้งที่มาขอและไม่มาขอ แต่ในปีการศึกษานี้ จะนำเรื่องของการสอบขอใบอนุญาตเข้าถึงมหาวิทยาลัย โดยจัดสอบให้กับนักศึกษาปี 2 สำหรับใบอนุญาตพื้นฐาน และเด็กจบปี 4 สอบใบอนุญาตความเชี่ยวชาญเฉพาะ การจัดสอบลักษณะนี้ จะทำให้ปริมาณคนได้รับใบอนุญาตเพิ่มขึ้นทันที

AW_Online-03 ส่วนของวิศวกรจากต่างประเทศ ที่เข้ามาทำงานในโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ได้รับการยกเว้นเรื่องใบอนุญาต โดยรัฐระบุให้ต้องผ่านการอบรมและทดสอบ ขณะนี้สภาฯ ได้จัดการอบรมไปแล้ว 226 คน เหลืออีกประมาณกว่า 70 คน
ซึ่งในส่วนนี้ เลขาธิการสภาฯ ได้มองถึงแนวทางการพัฒนาวิศวกรไทยเพิ่มเติมอีกว่า จากการที่เทคโนโลยีพัฒนาอยู่ตลอดเวลา วิศวกรไทย และเด็กๆ ที่เรียนในสาขาอาชีพนี้ ต้องเปลี่ยนแนวคิด (Mindset) จากเดิมที่เด็กวิศวะมักคิดอะไรอยู่ในกรอบ แต่ในยุคนี้ ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว เด็กวิศวะต้องพร้อมที่จะคิดนอกกรอบ เด็กต้องมองภาพให้กว้างขึ้น ออกนอกกรอบได้ แต่จะทำอย่างไรให้เขาเปลี่ยน สุดท้ายก็ต้องอยู่ที่ครูผู้สอน ซึ่งต้องปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ทันกับโลกยุคใหม่ตลอดเวลา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,340 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว