เทสล่าจับมือชาวออสซี่ เปลี่ยนบ้านเป็นเครือข่ายโรงไฟฟ้า

17 ก.พ. 2561 | 01:15 น.
ต่อเนื่องอีก 1 ฉบับเกี่ยวกับความพยายามของรัฐเซาธ์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ที่พยายามสร้างความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการเดินหน้าหลากหลายโครงการเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก ที่เราเคยนำเสนอไปแล้วในฉบับที่ผ่านมาคือการก่อสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ (thermal solar plant) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่าโครงการกว่า 20,800 ล้านบาท (650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) กำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ ซึ่งการก่อสร้างกำลังจะเริ่มขึ้นในปีนี้

MP27-3340-2A แต่นั่นก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ โครงการที่รัฐบาลท้องถิ่นพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไปในอนาคต (หลังจากที่ในปี 2559 เคยเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ทั่วทั้งรัฐ) โดยมีความร่วมมือกับภาคเอกชนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี นอกจากโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจและเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นรัฐเซาธ์ออสเตรเลียกับบริษัท เทสล่า เอกชนรายใหญ่ด้านพลังงานโซลาร์และยานยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกา ก็คือโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และ “พาวเวอร์วอลล์” (Powerwall) ซึ่งเป็นแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้าขนาดครัวเรือนของบริษัทเทสล่า ให้กับบ้านเรือนประชาชนที่ร่วมโครงการจำนวน 50,000 หลังคาเรือน

MP27-3340-1A นี่คือส่วนหนึ่งของโครงการแปลงบ้านเป็นเครื่องปั่นไฟฟ้าเข้าเครือข่ายของรัฐบาล เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายพลังงาน (ไฟฟ้า) เข้าด้วยกันผ่านระบบอัจฉริยะ บ้านที่ลงชื่อเข้าโครงการจะได้รับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์พร้อมแบตเตอรี่ครัวเรือนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เงินที่ใช้สนับสนุนโครงการนี้จะมาจากการขายไฟฟ้าส่วนเหลือใช้จากแต่ละครัวเรือนให้กับโรงไฟฟ้าของรัฐบาลท้องถิ่นนั่นเอง

AW_Online-03 การติดตั้งขั้นสาธิตรอบแรกจะเริ่มจากบ้านการเคหะ 1,100 ครัวเรือน แต่ละหลังจะได้รับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดกำลังผลิต 5 กิโลวัตต์บนหลังคาและแบตเตอรี่พาวเวอร์วอลล์สำหรับกักเก็บและจ่ายไฟฟ้า เฟสที่ 2 จะติดตั้งเพิ่มอีก 24,000 ครัวเรือน จากนั้นจะเพิ่มจนครบ 50,000 ครัวเรือนภายในเวลา 4 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,340 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว