คมนาคมเร่งถกคลัง เคาะรถไฟไทย-ญี่ปุ่น

13 ก.พ. 2561 | 04:09 น.
ไฮสปีดกรุงเทพฯ-เชียงใหม่คืบ! ญี่ปุ่นยันให้ความมั่นใจพร้อมสนับสนุนทุกด้าน ด้านคมนาคมจ่อเสนอ “บิ๊กตู่” เคาะมี.ค.นี้ เตรียมถก ก.คลัง หาแหล่งเงินทุน คาดร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่นทั้งโครงการ

[caption id="attachment_73456" align="aligncenter" width="355"] ฮิเดโอะ ฟุคุชิมะ อัครราชทูต และรองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ฮิเดโอะ ฟุคุชิมะ อัครราชทูต และรองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย[/caption]

นายฮิเดโอะ ฟุคุชิมะ อัครราชทูต และรองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีนี้เป็นปีที่จะได้เห็นความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและไทยของรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โครงการขนาดใหญ่มีมูลค่ามากกว่า 2.7 แสนล้านบาท แต่ทางญี่ปุ่นก็พร้อมให้ความสนับสนุนในทุกๆด้าน รวมทั้งข้อเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าเพื่อผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่กระทรวงคมนาคม ได้มีการประชุมโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วงเงิน 2.76 แสนล้านบาท ซึ่งภายหลังการประชุมนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาเปิดเผยว่า ได้พิจารณา 3 ประเด็นหลัก คือ

1.เรื่องต้นทุนของโครงการ ซึ่งคณะทำงานของทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้พิจารณาถึงความจำเป็น เพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้าง 2.ในด้านของความเร็ว ยืนยันว่าจะยังคงใช้ระบบและเทคโนโลยีของรถไฟความเร็วสูงชินคันเซนที่ความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ 3.เรื่องความเชื่อมโยง มีการเสนอว่าเส้นทางรถไฟควรจะต้องสามารถเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับโครงการรถไฟไทย-จีน
AW_Online-03
“หากเน้นเฉพาะการขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟความเร็วสูงนั้นจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ประมาณ 7% และถ้ามีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย EIRR จะอยู่ที่ประมาณ 14% ในส่วนของการลงทุนกำลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อหาแหล่งเงินทุนของโครงการ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะเป็นรูปแบบของการร่วมทุนทั้งโครงการ หลังจากนี้จะต้องมีการหารือร่วมกับญี่ปุ่นอีกและเตรียมเสนอความเป็นไปได้ของโครงการให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาภายในเดือนมีนาคมนี้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 9 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
e-book