ชี้เอกสารรายงานประชุมเท็จ สอดไส้กู้‘สหกรณ์ฯ รถไฟ’พังกว่า 2 พันล้าน

13 ก.พ. 2561 | 03:46 น.
กลุ่มธรรมาภิบาลเปิดเอกสารเท็จการประชุมกรรมการ สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟเท็จ สอดไส้วาระที่ไม่มีการพิจารณาเป็นอนุมัติให้ 6 กรรมการทยอยกู้เงินสหกรณ์กว่า 2,000 ล้าน พบพิรุธซํ้าลายเซ็นเลขาฯที่ประชุม

นายกิ่งแก้ว โยมเมือง หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายกลุ่มธรรมาภิบาล เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกรณีที่สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถเบิกถอนและกู้ยืมเงินได้ เนื่องจากสหกรณ์ขาดสภาพคล่องตั้งแต่ปี 2556-2560 ซึ่งเป็นช่วงที่นายบุญส่ง หงษ์ทอง และนายนรินทร์ โพธิ์ศรี สับเปลี่ยนกันเป็นประธานกรรมการ ได้อนุมัติจ่ายเงินกู้พิเศษเพื่อการเคหะให้กรรมการจำนวน 6 คน แบ่งออกเป็น 199 สัญญารวมเป็นเงินจำนวน 2,279 ล้านบาท เพื่อไปจัดซื้อที่ดินก่อสร้างบ้านจัดสรรโครงการอาลีบาบาลีฟวิ่งเฮ้าส์ และโครงการบุญสิตา ตั้งอยู่ตำบล/อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งผิดวัตถุประสงค์และเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ ด้วยการให้กู้ยืมเงิน ปี 2554 ข้อ 13 กำหนดให้กู้เงินได้ไม่เกินคนละ 15 ล้านบาท และต้องมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ

TP12-3339-A โดยจากการสืบค้นของคณะทำงานพบว่ามีการทำเอกสารเท็จขึ้นมาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปล่อยกู้และมีการอนุมัติจากที่ประชุม โดยทำรายงานการประชุมของคณะกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 7 ครั้งที่ 3 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 จำนวน 2 ฉบับ กล่าวคือ ชุดแรก เป็นรายงานการประชุมที่นำเสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการในวันที่มีประชุม ปรากฏว่าในวาระที่ 6 ไม่มีการประชุมแต่อย่างใด ส่วนรายงานการประชุมอีกฉบับที่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ผ่านนายทะเบียนสหกรณ์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 มติที่ประชุมคณะกรรมการชุดที่ 7 ครั้งที่ 3 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 ระเบียบวาระที่ 6 เรื่องอื่นๆ กลับมีการเพิ่มเติมวาระการประชุม 6.1 การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยของสมาชิก

ทั้งนี้ในเอกสารฉบับที่ 2 ได้ระบุการชี้แจงของนายบุญส่งซึ่งเป็นประธานกรรมการว่า ตามที่การประชุมได้เห็นชอบในหลักการให้ประธานและผู้บริหารจัดหาที่ดินและพัฒนา  เพื่อจัดเป็นโครงการในเรื่องที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิกนั้น เนื่องจากในการจัดซื้อที่ดินเพื่อดำเนินการจำเป็นต้องมีการพัฒนาในด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ให้ครบถ้วน   ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก  จึงขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมเป็นหลักการเพื่อขออนุมัติให้ประธานและผู้บริหารที่นายบุญส่งกำหนดไว้ ได้กู้เงินพิเศษเพื่อนำมาดำเนินการพัฒนาที่ดินดังกล่าวโดยการทยอยกู้เงินเมื่อสหกรณ์ มีวงเงินคงเหลือในขณะนั้นๆ แต่เนื่องจากอาจใช้วงเงินที่สูงจึงต้องนำเสนอคณะกรรมการดำเนินการเพื่อพิจารณาตามระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้พิเศษ หลังจากนั้นเป็นที่ประชุมมีมติเห็นชอบเป็นหลักการให้ประธานและคณะผู้บริหารตามรายชื่อที่ประธาน (นายบุญส่ง) นำเสนอ กู้เงินพิเศษเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ในเอกสารรายงานการประชุมฉบับเท็จ เมื่อพิจารณารายมือชื่อของนายมงคล เวทยะเวทิน ในตอนท้ายรายงานการประชุมเทียบกับรายงานการประชุมฉบับจริง พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยลายมือชื่อในรายงานการประชุมฉบับจริง เป็นลายมือชื่อว่า “มงคล” ส่วนฉบับเท็จระบุทั้งชื่อและนามสกุลว่า “มงคล เวทยะเวทิน”

AW_Online-03 “การทำเอกสารขึ้นมาใหม่ ชี้ชัดว่า เป็นการทำเอกสารเท็จเพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นกู้เงินต่อนายทะเบียนสหกรณ์เข้าข่ายลักทรัพย์ โดยใช้กลอุบายซึ่งฝ่ายกฎหมายจะยื่นหลักฐานต่อกองปราบปรามในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ ในเบื้องต้นทราบว่ากองปราบปรามจะส่งเรื่อง ให้กรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการสืบสวนต่อไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 9 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
e-book