ดีป้าเทงบ1.2พันล.ลงอีอีซี วางระบบรับ‘สมาร์ทซิตี’

16 ก.พ. 2561 | 03:02 น.
ดีป้า จัดงบ 1,200 ล้านบาท ผลักดัน สมาร์ท ซิตี 3 เมือง อีอีซี ประมวลข้อมูลป้อนซิตีโอเปอเรชัน เซ็นเตอร์ แก้ปัญหาร่วมกับภาคเอกชน สร้างเมืองน่าอยู่

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้รับการจัดสรรงบกลางปี 2560 วงเงิน 1,200 ล้านบาทเพื่อทำโครงการDigitalise EEC เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ท ซิตี ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีซึ่งจะเป็นการพัฒนาระบบเครือข่ายของเมืองและต่อยอดการพัฒนาเซอร์วิส แพลตฟอร์มมาที่ศูนย์ปฏิบัติการอีอีซีซิตีโอเปอเรชัน เซ็นเตอร์

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมเรื่องนี้ครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา และจะสรุปแนวทางการทำงานได้อย่างช้าต้นเดือนมีนาคมนี้

[caption id="attachment_257297" align="aligncenter" width="335"] ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์[/caption]

ทั้งนี้ การดำเนินการในแต่ละจังหวัดจะมีแนวทางหลักที่เหมือนกัน 3 ส่วนคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอลโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานโดยการวางแผนพัฒนาสมาร์ทซิตี ในพื้นที่อีอีซีโดยจังหวัดฉะเชิงเทราที่จะกำหนดให้เป็น Smart living สอดรับจะเป็นเมืองที่อยู่อาศัย ซึ่งจะทำให้มีความปลอดภัยในการดำรงชีพ มีการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด มีระบบตรวจสอบทะเบียนรถที่วิ่งเข้าออกในเมืองใหม่ฉะเชิงเทรา

ในขณะที่จังหวัดชลบุรี จะพัฒนาให้เป็น Smart environment และ Smart safetyโดยจะเริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมในชลบุรี เช่น อมตะ เหมราช จะมีระบบควบคุมความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมจะมีระบบบันทึกข้อมูลการขนย้ายสินค้าและวัตถุดิบ ระบบจะบันทึกเป็นฐานข้อมูลทั้งด้านปริมาณและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนสินค้าที่ต้องขออนุญาต เช่น วัตถุอันตราย

โดยจะมีระบบเก็บข้อมูลการปล่อยนํ้าเสียที่มีปริมาณการใช้นํ้ามาก จึงจำเป็นต้องเก็บข้อมูลเพื่อวางแผนการจัดการนํ้าเสียทั้งในเขตเมืองและนิคมอุตสาหกรรม และจะพัฒนาชลบุรีเป็น Smart tourism เป็นการบูรณาการแนวทางการพัฒนากับแผนงานของหน่วยงานอื่นเช่นการติดตั้งสัญญาณไว-ไฟเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงอินเตอร์เน็ต สามารถใช้ค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การจองที่พัก โดยจะเริ่มติดตั้งที่พัทยาก่อน

สำหรับจังหวัดระยองจะพัฒนาเป็นSmartenvironment และ Smartsafetในนิคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุดที่มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน5แห่งการวางระบบจะทำให้มีระบบดูแลภาคอุตสาหกรรมไม่ให้กระทบชุมชน เพราะข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาประมวลผลและนำข้อมูลมาวางแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆร่วมกับภาคเอกชน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
e-book