BTSชิงพีพีพีไฮสปีดเทรน ก.พ.นี้ซื้อซองกรุงเทพฯ-อู่ตะเภาพร้อมพัฒนาพื้นที่รอบสถานี

15 ก.พ. 2561 | 04:15 น.
“บีทีเอส” ยันเข้าร่วมประมูลพีพีพี รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา พร้อมซื้อซองทีโออาร์ในเดือนก.พ.นี้ และร่วมพัฒนาที่ดินรอบสถานี หวังหากชนะลงนามสัญญาได้ก.ย.61 มองอนาคตช่วยเสริมโครงข่ายคมนาคมในนิคมฯสมาร์ท พาร์ก ที่มาบตาพุด

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กรุ๊ป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติกรอบระยะเวลาการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา เชื่อม 3 สนามบิน ที่จะออกหนังสือเชิญชวน (ทีโออาร์) ประมูลในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชนหรือพีพีพีในเดือนกุมภาพันธ์นี้

[caption id="attachment_36100" align="aligncenter" width="338"] สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สุรพงษ์ เลาหะอัญญา
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)[/caption]

โดยบริษัทมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการดังกล่าว และพร้อมจะซื้อซองประมูล นำมาวิเคราะห์ในรายละเอียด หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของทีโออาร์ดังกล่าว ว่ามีความคุ้มค่า เหมาะสมต่อการลงทุนหรือไม่ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่เม็ดเงินลงทุนที่มีการประเมินสูงถึง 1.76แสนล้านบาท ประกอบกับมีการรวมการลงทุนในการพัฒนาที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงอีกประมาณ5หมื่นล้านบาท รวมเงินลงทุนราว 2.26 แสนล้านบาท

ดังนั้น จึงต้องนำโครงการรถไฟความเร็วสูง มาวิเคราะห์ความเสี่ยง ร่วมกับการพัฒนาที่ดินรอบแนวสถานีรถไฟฯด้วย ซึ่งในส่วนนี้ทางบีทีเอส กรุ๊ป ก็มีธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่ในกลุ่มอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การสนใจเข้าลงทุนดังกล่าว เนื่องจากเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี และเป็นโอกาสที่บริษัทจะขยายการลงทุนนอกพื้นที่จากปัจจุบันที่ดำเนินงานอยู่ในเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครและนนทบุรีเท่านั้น

MP11-3339-A “บีทีเอสดำเนินธุรกิจระบบขนส่งมวลชนทางรางอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสที่จะขยายการลงทุนไปยังพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ส่วนจะมีการยื่นซองประมูลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผลการวิเคราะห์ด้านการลงทุน และผลตอบแทนว่าจะคุ้มค่าแค่ไหน เพราะโครงการดังกล่าวเอกชนจะเป็นผู้รับความเสี่ยงในเรื่องรายได้”

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากโครงการฯมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน บริษัท จะยื่นประมูลร่วมกับพันธมิตรที่มีการร่วมลงทุนกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)และบริษัทซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หากชนะการประมูลและลงนามในสัญญาได้ในเดือนกันยายน 2561 จะเป็นการช่วยเสริมโครงสร้างข่ายระบบคมนาคม ที่บริษัทจะไปลงทุนระบบรถไฟฟ้ารางเบาหรือรถไฟฟ้าที่ใช้ล้อยาง ระยะทางราว 4 กิโลเมตร ในพื้นที่สมาร์ทพาร์ก บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุน และความเป็นไปของโครงการ จะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับทาง กนอ.ไปแล้ว ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้านบาทขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ระบบรถไฟฟ้าแบบใด โดยโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2563

AW_Online-03 “โครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว จะมีการพัฒนาเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจะก่อสร้างจากกรุงเทพฯไปถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทางประมาณ 196 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จในปี 2566 และระยะที่ 2 จะต่อเชื่อมไปถึงอำเภอเมืองระยองอีกประมาณ 60 กิโลเมตร หากบริษัทชนะการประมูลในเฟสแรก ก็จะมีโอกาสลงทุนในระยะที่ 2 ได้อีก จะไปช่วยเสริมโครงสร้างระบบขนส่งในสมาร์ท พาร์ก ได้ด้วย”

แหล่งข่าวจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) เปิดเผยว่า นอกจาก บีทีเอส กรุ๊ป มีความสนใจลงทุนในโครงการดังกล่าวแล้ว ยังมีกลุ่มทุนจีนที่จะมาจับมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) รวมถึงกลุ่มทุนจากญี่ปุ่น ที่ให้ความสนใจและเข้ามาหารือกับ สกรศ.แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
e-book