Digital IDแบงก์-ประกันถือ52%

12 ก.พ. 2561 | 05:41 น.
เคาะสัดส่วนลงขันวงเงิน 100 ล้านบาท ตั้งบริษัท “National Digital ID” สมาคมธนาคารไทยรับ 42.5% กระจายให้สมาชิกตามขนาดสินทรัพย์ ระบุ 4 ธนาคารใหญ่เฉลี่ย 6-7 ล้านบาท ขณะที่สมาคมวินาศภัยรับ 10% เตรียมกระจายให้สมาชิก คาดรายได้เข้าต้นปี 2562

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการมีส่วนร่วมของการจัดตั้งบริษัท “National Digital ID” จะเห็นว่าบริษัทดังกล่าวเป็นการลงทุนระหว่างภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ กว่า 7 หน่วยงาน ภายใต้วงเงินการจัดตั้งจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนจะแบ่งตามสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ภายหลังจากรับทราบวงเงินการจัดตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

[caption id="attachment_258453" align="aligncenter" width="404"] สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน[/caption]

บริษัท ทิพยประกันภัยฯ จะอยู่ในนามของสมาคมประกันวินาศภัยซึ่งได้รับสัดส่วนการลงทุนมาประมาณ 10% ซึ่งตอนนี้สมาคม อยู่ระหว่างการจัดสรรการลงทุนว่าสัดส่วนของแต่ละบริษัทประกันภัยจะอยู่ที่สัดส่วนเท่าไร คาดว่าสมาคมกำลังพิจารณาและสอบถามบริษัทประกันภัยต่างๆอยู่ ผลน่าจะออกมาเร็วๆ นี้อย่างไรก็ดี ภายหลังจากจัดตั้งอาจจะต้องรอแผนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“ตอนนี้เรื่องอยู่ที่สมาคมประกันวินาศภัย หลังจากได้รับสัดส่วนการลงทุนมาประมาณ 10% ซึ่งสมาคม จะมาแบ่งและจัดสรรอีกที โดยจะดูว่าบริษัทไหนจะรับไปลงทุนเท่าไร หรือได้รับการจัดสรรอยู่ที่เท่าไร ซึ่งขณะนี้น่าจะอยู่ระหว่างการพิจารณาและสอบถามบริษัทประกันภัยต่างๆ อยู่ คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้”

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัท “National Digital ID” ปัจจุบันได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นที่เรียบร้อย ภายใต้วงเงินจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยมีผู้ถือหุ้นร่วมทั้งสิ้น 7 หน่วยงาน

บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติฯ (NCB) จะรับหน้าที่เป็นผู้จดทะเบียน และลงทุนในสัดส่วนราว 20% ขณะที่ในส่วนของสมาคมธนาคารไทยได้รับสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 42.5% ซึ่งในสัดส่วนดังกล่าวจะให้ธนาคารที่อยู่ภายใต้สมาชิกของสมาคมธนาคารไทย ที่มีสมาชิกทั้งสิ้น 15 ธนาคาร แบ่งสัดส่วนการลงทุนตามขนาดสินทรัพย์ เช่น ธนาคารขนาดใหญ่ จะลงทุนเฉลี่ยราว 6-7% เป็นต้น

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัท “National Digital ID” ดังกล่าว ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องผลกำไรหรือรายได้แต่อย่างใด แต่ต้องการให้บริษัทนี้เป็นตัวกลางให้ภาคเอกชน หรือหน่วยงานรัฐ เข้ามาใช้ข้อมูล และนำไปใช้ประโยชน์ได้ซึ่งการจัดตั้งบริษัทนี้ ถือว่าสอดคล้องกับแผนของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิด Digital Platform

รวมไปถึงแผน Doing Business หรือการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ผ่านการมีข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นดิจิตอลมากขึ้น

AW_Online-03 อย่างไรก็ตามในส่วนของรายได้ที่จะเข้ามานั้น จะเกิดจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาขอใช้บริการตรวจสอบทางด้านข้อมูลผ่านบริษัทนี้เช่น ภาคการเงินผ่านธนาคาร, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และภาคเอกชนอื่นๆ ที่ต้องการใช้ข้อมูลทางการเงินเพื่อไปวิเคราะห์ อาทิ บลจ.ที่ต้องการใช้เปิดบัญชีออนไลน์ให้กับลูกค้าที่เข้ามาลงทุนเปิดพอร์ตซื้อขายหุ้น

บริษัทที่จัดตั้งขึ้น จะทำหน้าที่เป็นสายต่อไปยังต้นทางข้อมูล เพื่อตรวจสอบข้อมูล หรือพิสูจน์ตัวตน E-KYC เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์รายบุคคล ซึ่งคาดว่าหน่วยงานที่จะเข้ามาใช้หลักๆ ในช่วงแรกจะเป็นภาคการเงิน เนื่องจากมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้น รายได้ที่จะเกิดขึ้นและเห็นได้ชัดเจนน่าจะเป็นปี 2562

“ตอนนี้บริษัทจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว แต่การเข้าไปถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว หากเป็นภาคธนาคาร จะถือหุ้นตามขนาดสินทรัพย์ โดย 4 แบงก์ใหญ่ จะลงทุนใกล้เคียงกันที่ราว 6-7% หรือประมาณ 6-7 ล้านบาท และที่เหลือก็ลงทุนลดหลั่นกันลงมาตามขนาดไซซ์สินทรัพย์ จากตอนนี้มีผู้ถือหุ้นรวม 7 กลุ่มด้วยกัน โดยสมาคมธนาคารได้สัดส่วนการถือหุ้นทั้งสิ้น 42.5% ใครใหญ่ก็ถือมากหน่อย

ส่วนเรื่องรายได้คงไม่ได้มีเป้าหมาย เพราะบริษัทที่ตั้งขึ้นมานี้ เพื่อต้องการให้เป็นดิจิตอล แพลต ฟอร์ม ล้อไปกับโครงการของภาครัฐ ส่วนจะมีรายได้จริงน่าจะราวต้นปี 2562 เพราะต้องรอให้บริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ เข้ามาใช้ข้อมูลก่อน ส่วนแบงก์ชาติไม่ได้ลงทุน แต่ส่วนเข้ามาดูแลและให้คำปรึกษาหากมีบริการไหนหรือข้อมูลไหนผิดหลักการกำกับ”

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่าความคืบ หน้าการจัดตั้งบริษัท “National Digital ID”วงเงิน 100ล้านบาท โดยธนาคารกสิกรไทย ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการลงทุนราว 6.8% หรือประมาณ 6.8 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 9 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
e-book