‘ปีติพงศ์’ ตั้งแท่น 4 นวัตกรรม ขับเคลื่อน เศรษฐกิจกระแสใหม่

15 ม.ค. 2559 | 07:30 น.
นั่งรั้งท้ายเก้าอี้ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ล่าสุด "ปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา" อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ถูกแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" (สปท.) ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้น ทำงานเป็น "ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจกระแสใหม่" ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ

"ปีติพงษ์" กล่าวเปิดใจกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากโจทย์ใหญ่ของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาถึง สปท. ตั้งเป้าปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ จาก รับจ้างผลิต ให้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่ใช้การพัฒนานวัตกรรม มาขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งสอดรับกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลที่เร่งผลักดันอยู่ในขณะนี้ด้วย

"สิ่งที่ทำอยู่นี้ เป็นเหมือน ยาดำ ที่แทรกอยู่ในคลัสเตอร์ของภาครัฐทั้งหมด เป็นพื้นฐานที่จะเข้าไปสนับสนุน 10 คลัสเตอร์ของรัฐ ทั้งเก่าและใหม่ โดยเฉพาะ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ โดย 4 เรื่องที่ต้องเร่งผลักดัน ทำให้เกิดขึ้นในระยะเวลาที่เหลืออยู่นี้ ประกอบด้วย

1. เศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งถือเป็นไฟต์บังคับที่ต้องทำ เพราะกระแสโลกเดินมาทางนี้ แม้ว่าไทยจะไม่มีความชำนาญเท่ากับต่างประเทศ ในเรื่องของกระบวนการสร้าง แต่เห็นว่า ยังมีช่องว่างที่สามารถจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยเฉพาะการทำแอนิเมชันที่มีศักยภาพสูง เรื่องของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ เป็นต้น

"เรื่องนี้ภาคเอกชนเขาไปไกลแล้ว ตอนนี้สิ่งที่เขาต้องการเหลือเพียงเรื่องเดียว คือ การเชื่อมโยง หรือ Connectivity ในขณะที่เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานได้เริ่มไปบ้างแล้ว สิ่งที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นจึงเน้นไปที่การให้บริการของภาครัฐใน 2 เรื่องหลัก คือ ให้บัตรประชาชนใบเดียวสามารถใช้รับบริการต่างๆ ของภาครัฐได้ทั้งหมด ไม่ต้องนำเอกสารหลักฐานอื่นๆ ติดตัวไป

ความพยายามอีกเรื่อง คือ การให้เกิดความโปร่งใสของข้อมูลภาครัฐ ไม่เฉพาะการประมูลโครงการต่างๆของรัฐ แต่ต้องครอบคลุมข้อมูลด้านอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ด้วย อาทิ ข้อมูลการผลิต ข้อมูลทางเศรษฐกิจ และข้อมูลทางกฎหมาย ฯลฯ ที่จะทำให้ประชาชนรู้สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของตนเอง ซึ่งควรจะต้องรวบรวมเอาไว้สักที่หนึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจน หมายรวมถึง การแปลข้อมูลเชิงเทคนิคให้อ่านเข้าใจง่ายกับกลุ่มเป้าหมายให้นำไปใช้และเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

2.เศรษฐกิจสร้างสรรค์และวัฒนธรรม นำมารังสรรค์ใหม่ให้เกิดมูลค่า ด้วยการสร้างรูปแบบทางวัฒนธรรมที่สามารถนำไปขายในระดับสากลได้ ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนในเรื่องนี้ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรมฯ และกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (ทีซีดีซี) ที่ยังไม่รู้ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร เราต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้เกิดความชัดเจน

ขณะนี้กำลังรวบรวมสถานที่สำคัญ หรือแหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพฯที่น่าสนใจ เพื่อนำมาส่งเสริม สนับสนุนให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบต่อไป โดยทั้งสองเรื่องข้างต้นถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอยู่แล้ว

ตรงข้ามกับเรื่องที่ 3 คือ เศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ความตั้งใจของ สปท. คือ จะเริ่มนำข้อมูลของรัฐบาลที่เกี่ยวกับไบโอเทคมาใช้ ตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายเป็น กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความก้าวหน้า เป็นหัวหอกหลักได้เริ่มก่อน และจะผลักดันให้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่กำลังจะทำกันอยู่นี้

"เรื่องนี้มีความเกี่ยวกับกับหลายเซกเตอร์ อาทิ อาหาร การแพทย์ การแพทย์แผนไทย สปา รวมถึงพลังงาน หากเราสามารถใช้นวัตกรรมของเราเอง ซึ่งมีอยู่พอสมควรที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพในลักษณะนี้ เชื่อว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่จึงไม่ได้หวังมาก โดยตั้งเป้าไว้ 2 เรื่อง คือ การใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตร และบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ได้"

สุดท้าย คือ เศรษฐกิจเพื่อสังคม คือ ให้เกิดการลงทุนเพื่อสังคมโดยภาคเอกชนให้มากขึ้น จากที่ลงทุนเศรษฐกิจโดยตรงเพื่อทำกำไรเป็นหลัก อาทิ การศึกษา การเรียนรู้ สุขอนามัยต่างๆ โดยความแตกต่างของบริษัทเหล่านี้จะอยู่ตรงที่ไม่มีการแบ่งกำไรให้กับผู้ถือหุ้น

"ขณะนี้มีผู้ที่สนใจและสมัครที่จะทำ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการของกระทรวงการคลัง และครม. ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานไว้ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ เพียงแต่ยังไม่เรียบร้อย สปท.จะพยายามผลักดันให้บริษัทที่อยากจะทำในเรื่องเหล่านี้ให้เริ่มต้นงานให้ได้ และผลักดันกฎหมายที่สนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้เกิดขึ้นด้วย เหล่านี้ คือ สิ่งที่เราจะทำภายในระยะเวลาที่มีอยู่นี้ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เชื่อว่า คงไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสั้นนี้ได้

ดังนั้น การทำงานของ สปท.จะประสบความสำเร็จได้นั้น รัฐบาลต้องเห็นความสำคัญและให้การผลักดันสูงมาก นายปีติพงษ์ ให้แง่คิดในตอนท้าย

  รู้จัก กับ แนวคิด ศก.กระแสใหม่

ตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ "ปีติพงษ์" ประธานอนุกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจกระแสใหม่ เปิดเผยถึงที่มาของคำว่า "เศรษฐกิจกระแสใหม่" ว่า เป็นคำที่ คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจกระแสใหม่ ในการกำกับดูแลของ คณะกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจบัญญัติขึ้น ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า "New Economy" ที่ในหลายประเทศใช้เป็นกลไกในการยกระดับการพัฒนาประเทศ

แนวคิดเรื่อง "เศรษฐกิจกระแสใหม่" เกิดขึ้นจากการทบทวนข้อเสนอในการพัฒนาเศรษฐกิจของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ที่เสนอให้ "สร้างพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่" ให้ประเทศพ้นจากการเป็นประเทศ "รับจ้างผลิตสินค้า" เป็นประเทศที่ใช้ "การพัฒนานวัตกรรม" ที่ใช้ความรู้ ใช้ทุนทางสังคม และทุนทางธรรมชาติของตนเองเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้หลักคิดของคณะอนุกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจกระแสใหม่ เกิดจากได้รับแจ้งข้อมูลว่า รัฐบาลต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต 10 ประเภท ซึ่งมีหลายอุตสาหกรรมต้องการการขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจกระแสใหม่ อาทิ กลุ่มเป้าหมายระยะสั้น และปานกลาง ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวระดับคุณภาพ เกษตรเชิงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ และอาหารแห่งอนาคต ขณะที่กลุ่มเป้าหมายระยะยาว ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงาน อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559