ค่าโง่ 'กล้ายาง'!! รัฐจ่าย 'ซีพี' 1.7 พันล้าน

13 ก.พ. 2561 | 09:11 น.
1609

กรมวิชาการเกษตรป่วน! ศาลฎีกาสูงสุดตัดสินให้ ‘ซีพี’ ชนะคดียางล้านไร่ เผยความเสียหาย 1,700 ล้านบาท ที่กรมจะต้องชดใช้ หลังถูกระงับส่งมอบ 16.4 ล้านตัน วงในเผยต้องจ่ายก้อนแรก 300 ล้านบาท

ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกว่า 1,700 ล้านบาท จากกรมวิชาการเกษตร จากที่บริษัทถูกระงับการส่งมอบต้นกล้ายาง 16.4 ล้านตัน ซึ่งก่อนหน้านี้ชนะแล้ว 2 ศาล ลุ้นศาลฎีกาตัดสิน

ล่าสุด แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2560 ศาลฎีกาสูงสุดได้ตัดสินให้ ‘เครือซีพี’ ชนะคดีกล้ายาง 1 ล้านไร่ ซึ่งผลจากการตัดสินทำให้กรมวิชาการเกษตรจะต้องชำระค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,700 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทได้เรียกค่าเสียหายทั้งจากต้นกล้ายางที่ไม่ได้ส่งมอบและภาพลักษณ์ของบริษัท โดยศาลได้ให้กรมวิชาการเกษตรแบ่งชำระเป็นงวด โดยงวดแรกจะต้องชำระ 300 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อสอบถามไปยัง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ถึงผลคดี แต่ไม่สามารถติดต่อได้


AW_Online-03

สำหรับโครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีเกษตรกรร่วมโครงการประมาณ 1.42 แสนราย ต้องใช้กล้ายางถึง 90 ล้านต้น ระยะเวลาของโครงการ 3 ปี (2547-2549) กรมวิชาการเกษตรได้ว่าจ้าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด เป็นผู้ผลิตและส่งมอบกล้ายาง โดยโครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือเงินทุนจากโครงการช่วยเหลือเกษตรกร 1,440 ล้านบาท ชำระคืนภายใน 10 ปี นับจากที่ยางให้ผลผลิต และวงเงินสินเชื่อเพื่อการดูแลรักษาระยะเวลา 6 ปี อีก 5,360 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 8%

ทั้งนี้ กระบวนการจัดหากล้าพันธุ์ยางนั้น หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2546 กรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศการประกวดราคาให้บริษัทเอกชนยื่นประมูล ซึ่งปรากฏว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี ชนะการประมูล ซึ่งต่อมากรมวิชาการเกษตรได้ทำสัญญากับซีพีให้ดำเนินการผลิตต้นกล้าพันธุ์ยางพารา ซึ่งต้องใช้ทั้งสิ้น 90 ล้านต้น ในวงเงิน 1,397 ล้านบาท เพื่อส่งมอบให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกภายในระยะเวลา 3 ปี (2547-2549) โดยตามสัญญาว่าจ้างระบุว่า ในปีแรก ซีพีต้องส่งมอบกล้าพันธุ์ยางให้ได้ 20% (18 ล้านต้น), ปี 2548 จำนวน 30% (27 ล้านต้น) และปี 2549 ซีพีต้องส่งมอบให้ได้ 50% (45 ล้านต้น)

จากที่กระทรวงเกษตรฯ ให้ยกเลิกสัญญาการส่งมอบกล้ายางระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับบริษัท ได้สร้างความเสียหาย ทั้งกับบริษัทและเกษตรกรที่รอรับกล้ายางอยู่จำนวนมาก เพราะช่วงก่อนที่สัญญาจะจบลง วันที่ 31 ส.ค. 2549 ทางบริษัทไม่สามารถส่งมอบกล้ายางได้ตามสัญญา ด้วยสาเหตุภัยธรรมชาติ จนทำยางชำถุงไม่ได้ จึงแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรรับทราบและขอต่อสัญญาการส่งมอบ จากวันที่ 31 ส.ค. 2549 ทางบริษัทไม่สามารถส่งมอบกล้ายางได้ตามสัญญา ด้วยสาเหตุภัยธรรมชาติ จนทำยางชำถึงไม่ได้ จึงแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรรับทราบและขอต่อสัญญาการส่งมอบ จากวันที่ 31 ส.ค. 2549 เป็นวันที่ 15 เม.ย. - ก.ค. 2550 และพร้อมจะจ่ายค่าเสียหายตามสัญญา ซึ่งการขอต่อสัญญาครั้งนี้ บริษัทสามารถทำได้ตามสัญญาที่ระบุไว้ ในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย

ต่อมาเมื่อกรมวิชาการเกษตรได้หารือกับกระทรวงเกษตรฯ แล้ว ได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัท เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2549 ว่า ยินดีจะต่อสัญญาให้บริษัทจึงเร่งผลิตยางชำถุง ที่ต้องเริ่มจากการจ้างเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ชำถุงยาง จนถึงการติดตา ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน และบริษัทมีกล้ายางพร้อมจะส่งมอบแล้ว แต่กรมวิชาการเกษตรกลับมีหนังสือว่า ขอยกเลิกโครงการนี้ และอ้างว่า ไม่เคยมีหนังสือเพื่อขอต่อสัญญา จึงเป็นที่มาของการฟ้องร้องในครั้งนี้


………………..
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 9-14 ก.พ. 2561 หน้า 01+15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว