ก.พลังงานเร่งสรุปทีโออาร์สัมปทานปลายก.พ.นี้

10 ก.พ. 2561 | 11:14 น.
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล(ทีโออาร์) สัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นจะออกประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลภายในเดือนมีนาคม 2561 โดยคาดว่า 3-6 เดือน กระบวนการจะมีความชัดเจนและน่าจะได้รายชื่อผู้ชนะการประมูล

สำหรับตัวเลขการรักษากำลังการผลิตไว้ที่ 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันน่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญ พิจารณาแล้วว่าตัวเลขดังกล่าว เป็นระดับกำลังการผลิตที่ท้าทายไม่เกินความสามารถของผู้ที่จะรับสัมปทาน ส่วนใครจะทำได้มากน้อยแค่ไหนนั้นยังไม่สามารถตอบได้ นอกจากนี้เบื้องต้นจะแบ่งเป็น 2 สัญญา แบ่งเป็นเอราวัณ 1 สัญญา และบงกช 1 สัญญา ขณะที่ราคารับซื้อก๊าซจากทั้งสองแหล่งหากสามารถรักษาระดับเดิมได้ก็จะเป็นผลประโยชน์กับประเทศ

 

ส่วนความคืบหน้าการศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา กระทรวงพลังงานสั่งการให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กลับไปศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ และในระหว่างนี้จะมีการดำเนินขยายสายส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอมไปยังสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าจะนะไปยังภูเก็ต เพื่อให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถส่งไฟฟ้าได้เต็มศักยภาพ ปัจจุบันภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 2.4 พันเมกะวัตต์ แต่มีความต้องการใช้อยู่ที่ 2.6 พันเมกะวัตต์

tor

นอกจากนี้ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยเฉพาะพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งดูว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งอาจดูพื้นที่อื่นแทนได้หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น อย่างไรก็ตามยืนยันว่าในแผนพีดีพียังจำเป็นต้องมีเชื้อเพลิงถ่านหิน เพื่อกระจายเชื้อเพลิง ไม่ใช่พึ่งพาก๊าซเพียงอย่างเดียว แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินจะตั้งที่ใดก็ได้เพื่อนำมาเฉลี่ยค่าไฟฟ้าของประเทศ

จากที่กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมรับฟังการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน : ไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการบูรณาการการขับเคลื่อนงาน โครงการของหน่วยงานต่างๆ จากรัฐบาล ที่มีเป้าหมายลงพื้นที่ในระดับหมู่บ้านตามแนวทางนโยบายประชารัฐ พร้อมพัฒนา แก้ไขปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ไปจนถึงการสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชน ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศตามระบอบประชาธิปไตย โดยได้แบ่งออกเป็น 10 ด้านสำคัญ ๆ อาทิ สัญญาประชาคม ผูกใจไทยเป็นหนึ่ง ชุมชนอยู่ดีมีสุข รู้เท่าทันเทคโนโลยี และในส่วนของกระทรวงพลังงานจะอยู่ในกลุ่มงานตามภารกิจ ของทุกหน่วยงาน (Function)

ทั้งนี้ กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ดังกล่าว จะมีพื้นที่ดำเนินการครอบคลุม 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,663 ตำบล รวมถึง 50 เขตในกรุงเทพมหานคร และเมื่อรวมหมู่บ้านชุมชน และชุมชนในกรุงเทพมหานคร จะครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศถึง 83,151 แห่ง โดยจะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เข้าดำเนินการในกรอบงานต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงพลังงาน ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯ จะได้ร่วมผลักดันนโยบายด้านพลังงานที่สำคัญ ๆ เพื่อการเข้าถึงพื้นที่ชุมชนต่างๆ ตามโครงการฯ โดยเฉพาะด้านการวางแผนพลังงานชุมชน

ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ถือเป็นนโยบายสำคัญ และได้ขับเคลื่อนดำเนินการมาต่อเนื่อง รวมทั้งด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสมต่อศักยภาพในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อเร่งสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน หรือสร้างผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ผ่านการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทน อาทิ ระบบสูบน้ำแสงอาทิตย์ ระบบอบแห้งแสงอาทิตย์เพื่ออบแห้งสินค้าการเกษตร ระบบอบแห้งแสงอาทิตย์ในบ่อเลี้ยงปลา พลังงานน้ำระดับชุมชน การส่งเสริมการใช้เตาประสิทธิภาพสูง เป็นต้น
AW_Online-03 “การดำเนินการตามแนวทาง ไทยนิยม ยั่งยืน กระทรวงพลังงานพร้อมจะร่วมผลักดันให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยนอกจากจะเป็นการผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามศักยภาพของพื้นที่แล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะสนับสนุนโครงการต่างๆ ผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืน และยังได้ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนให้ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า พร้อมๆไปกับการตระหนักเห็นถึงความสำคัญของพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นทำในการทำงานด้านพลังงาน” นายศิริกล่าว

นายศิริ กล่าวเพิ่มว่า กระทรวงพลังงานได้จัดกิจกรรมสัมมนา “การสื่อสารนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ และเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารของกระทรวงพลังงาน” ซึ่งได้มีการมอบนโยบายและทิศทางการปฏิบัติราชการ ในปี 2561 ให้แก่ พลังงานจังหวัด พร้อมด้วยข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงาน โดยได้ย้ำให้ บุคลากรของกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะบุคลากรของกระทรวงพลังงานในส่วนภูมิภาค จะต้องเป็นเรี่ยวแรงที่สำคัญ เพื่อจะช่วยนำข้อมูล ข้อเท็จจริงด้านพลังงานต่าง ๆ ไปสื่อสารต่อยังประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเชื่อมั่น เกิดทัศนคติที่ดีต่อกระทรวงพลังงาน พร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนผ่านโครงการต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน และให้การสนับสนุนนโยบายต่างๆ ของกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันการบิดเบือน โจมตีกล่าวหากระทรวงพลังงานในแง่ลบให้น้อยลง หรือไม่มีในที่สุด

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว