เติม “ชีวิต” ให้กับคำว่า “บ้าน”

24 ก.พ. 2561 | 00:50 น.
“สำหรับผมบ้านคือ “การอยู่” “บ้านคือ “ความรัก” ต่อให้มีเงินสร้างบ้านใหญ่โตถ้าเราไม่ได้อยู่ความรู้สึกที่ผูกพันกับบ้านก็จะไม่เกิดขึ้น ความสำคัญของบ้านไม่ใช่แค่เป็นสถานที่ที่ทำให้รู้สึกว่าวันนี้เรามีที่กลับ แต่การอยู่คือการที่เราดูแลรักษาบ้านด้วยมือของเราเอง ยิ่งเราเอามือไปสัมผัสบ้านมากขึ้นเท่าไหร่ บ้านจะเป็นของเราและเราจะเป็นของบ้านมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นบ้านจึงไม่ได้หมายถึงโครงสร้างที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและห้องหับต่างๆ ครบครัน แต่บ้านคือสิ่งที่ยกระดับสติและระเบียบในชีวิตของเรา นั่นคือความรู้สึกที่ผูกพันจนเป็นความรักและความอบอุ่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในทุกๆ วัน”

MP25-3339-2A “ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย ต้นไม้ ใหญ่ แก้วน้ำ จานชาม บันได โคมไฟที่สวยงาม…” เนื้อเพลงท่อนแรกจากเพลง Home ของคุณบอย โกสิยพงษ์ ที่เลือกเอาองค์ประกอบเล็กๆ ที่ดูแสนจะธรรมดา แต่เมื่อหลอมรวมและประกอบกันด้วยความรักคือตัวแทนของคำว่าบ้าน ในสัปดาห์ที่เริ่มอบอวลด้วยกลิ่นของวันแห่งความรัก “สุขสัปดาห์” ขอยกเรื่องราวความสุขของผู้ชายคนหนึ่งที่หลอมรวมความรักที่กลั่นผ่านความคิดและสติปัญญา สร้างคุณค่าให้กับอิฐ หิน ปูน ทราย รวมถึงต้นไม้น้อยใหญ่ ประกอบกันเป็น “บ้าน” ที่แท้จริง “อาจารย์อินทนนท์ จันทร์ทิพย์” สถาปนิก และเจ้าของบริษัท INchan atelier

“อะไรที่ผมไม่เข้าใจในเรื่องพื้นฐานหรือจุดตั้งต้น ผมจะไม่ไปต่อจนกว่าผมจะเข้าใจในเรื่องนั้นจริงๆ” การเติบโตมาในครอบครัวนักวิชาการที่มีคุณแม่เป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ และคุณพ่อเป็นอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะด้วยรหัสทางพันธุกรรมหรือการขัดเกลาผ่านการปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างรูปแบบใดก็ตามได้หล่อหลอมตัวตนให้อาจารย์อินทนนท์เป็นคนที่อดทนและค้นหาจนกว่าตัวแปรต่างๆ จะมีคำอธิบายจนกระจ่าง เพื่อสร้างเป็นสูตรที่มีความหมายยิ่งต่องานเชิงสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ระหว่างทางในการค้นหาตัวตนการค้นพบว่าสิ่งที่ตนเองชื่นชอบไม่ใช่แค่ความงามจากงานจิตรกรรมและงานประติมากรรม แต่คือความงามที่ทาบซ้อนอยู่ในงานดรอว์อิ้งที่รูปทรงเรขาคณิตซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยอุปกรณ์การเขียนง่ายๆ อย่างวงเวียน ไม้บรรทัด และส่วนเส้นโค้งต่างๆ ประกอบเข้าหากันกลายเป็นภาษาที่นักคณิตศาสตร์ถ่ายทอดความงามในความคิดสู่สายตาของคนทั่วไป และนั่นคือครั้งแรกที่ทำให้เด็กชายคนหนึ่งหลงรักวิชาดรอว์อิ้งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรู้จักคำว่า “สถาปัตยกรรม” อย่างเป็นทางการ

[caption id="attachment_257884" align="aligncenter" width="332"] อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ อินทนนท์ จันทร์ทิพย์[/caption]

เส้นทางชีวิตที่เกือบจะเป็นไปตามความฝันของคุณพ่อกับการเอนทรานซ์ติดคณะวิศวะคอมพิวเตอร์ กับจุดหักเหด้วยการเอนทรานซ์ใหม่อีกครั้งและตัดสินใจเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อเดินตามความฝันของตนเอง แม้ช่องว่างระหว่างสองพ่อลูกจะกว้างขึ้นแต่ด้วยศาสตร์ที่มีจุดเริ่มต้นจากองค์ความรู้เดียวกัน ทำให้งานวิทยานิพนธ์ในระดับชั้นปีที่ 5 ของอาจารย์อินทนนท์ในการสร้าง “ศูนย์ศึกษาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ขั้นสูง” ที่เชื่อม “ความงามในความคิด” ของทั้งสองให้ตรงกัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกกลับมาดังเดิมอีกครั้ง วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ภาวะหางานไม่ได้ของเพื่อนในรุ่นเดียวกันทำให้อาจารย์อินทนนท์มุ่งหน้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดบ้านเกิดของคุณพ่อซึ่งเขาใฝ่ฝันมานาน และการเดินทางครั้งนี้ทำให้เขาเริ่มต้นชีวิตในวัยยี่สิบต้นๆ ครั้งแรกในฐานะอาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยบังเอิญ

ชีวิตที่เติบโตมากับห้องสมุดจากการเป็นตัววิ่งข้างกายคุณพ่อสืบค้นตำราในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้การวางหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นไปอย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ยิ่งค้นคว้าข้อมูลเพื่อมาอธิบายให้กับนักศึกษายิ่งทำให้อาจารย์อินทนนท์ค้นพบว่า “องค์ความรู้ที่ตนเองต้องเตรียมการสอนทุกอย่างมาจากต่างประเทศทั้งหมด” การไม่ใช่คนต่างชาติที่แม้จะมีภาษาที่ดีแต่ก็ไม่ได้หมายถึงความรู้ทะลุปรุโปร่ง และไม่เข้าใจในปรัชญาพื้นฐาน สิ่งที่จะได้รับจะได้รู้คือแค่เรื่องงูๆ ปลาๆ เท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงแก่นของการออกแบบในเรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่ปรากฏทั้งในหนังสือและงานออกแบบทุกวันนี้เราต้องตามความคิดของโลกตะวันตกแทบทั้งสิ้น

MP25-3339-1A หากองค์ความรู้เป็นดวงอาทิตย์ ประเทศในโลกตะวันตกโคจรอยู่ประมาณดาวพุธ ประเทศไทยน่าจะอยู่ประมาณดาวพลูโต เพราะฉะนั้นประตูบานแรกที่ผมสอนนักศึกษาก็คือ หากพวกเราคิดว่าเราเจ๋ง เราจะไม่เจ๋ง เพราะโลกที่ใหญ่ขึ้นผลักให้เราต้องตามองค์ความรู้ของโลกตะวันตกตลอด สิ่งที่ควรจะทำคือ “การตื่นให้ไวขึ้น” และการตื่นนั้นเริ่มต้นจาก “การไม่ดูถูกสังคมตัวเอง” ไม่ให้ความเป็นไทยหรือความเป็นท้องถิ่นถูกเหยียดด้วยความรู้สึกบางอย่างและเยินยอกับแนวคิดจากโลกตะวันตกจนมากเกินไป

คำว่า “การไม่ดูถูกสังคมตัวเอง” นำไปสู่การให้คุณค่ากับท้องถิ่นซึ่งโดยแท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วคือ “ความเป็นตัวเอง” ในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ที่เกี่ยวข้องกับ “แดด ลม ฝน” ซึ่งล้วนแต่ทำให้ “การอยู่” ของเราทุกคนมีความสุขสงบทั้งทางกายและทางใจ

เพราะคุณภาพพื้นที่ของคนในแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน ความกลัวยุง กลัวฝนของบ้านในแต่ละยุคจึงแตกต่างกัน ปัจจุบันเราต่างต้องการพื้นที่ส่วนตัว ต้องการการปิดล้อมแต่ยังมองเห็นบรรยากาศภายนอกทำให้เรามีการใช้กระจกบานใหญ่ มีการใช้เครื่องปรับอากาศ ตามมาด้วยเครื่องกันยุง แต่ในอดีตเรามีเพียงแค่มุ้งหลังนึงเท่านั้นที่กันยุง เรื่องที่เหลือเป็นเรื่องของธรรมชาติทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่อาจารย์อินทนนท์พยายามใส่เข้าไปในงานออกแบบทุกๆ ครั้งคือ “การเปิดพื้นที่ธรรมชาติ” ที่ไม่ใช่แค่ให้พื้นที่กับต้นไม้และพันธุ์พืชต่างๆ ได้เติบโตอย่างอิสระและสวยงาม แต่ยังเป็นการลดตัวช่วยต่างๆ น้อยลง ให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่ในการส่องสว่าง และปล่อยให้สายลมพัดโชยหมุนเวียนและถ่ายเทอากาศภายในบ้านได้มากขึ้น ซึ่งปลายทางของการตื่นตัวในการไม่ดูถูกสภาพอากาศและต้นไม้ของภูมิประเทศของตัวเองก็คือ “ความเพลิดเพลิน” ในการใช้ชีวิตมากขึ้นนั่นเอง

“ห้องเก็บของที่ใหญ่ขึ้น ดีกว่าห้องรับแขกที่โอ่โถง” ถือเป็นหนึ่งแนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์ในงานออกแบบของอาจารย์อินทนท์ จากแนวคิดที่ยึดถือมาโดยตลอดว่า “งานด้านสถาปัตยกรรมควรทำหน้าที่จัดระเบียบให้กับชีวิตและสังคม” การมีห้องเก็บของที่กระจายและซ่อนตัวอยู่ในจุดต่างๆ คือการสนับสนุนเรื่องการจัดระเบียบชีวิตให้กับเจ้าของบ้าน ไม่ทำให้เจ้าของบ้านนั้นตัดสินใจทิ้งของเหลือใช้ไวขึ้น แต่รู้จักเก็บรักษาให้ถูกที่ถูกทาง ไม่เพียงเท่านั้นความรู้สึกบีบอัด ไปสู่การคลี่คลายและเผยตัวของการเชื่อมห้องต่างๆ พร้อมๆ กับการออกแบบ “บันได” ให้เป็นหัวใจของการแบ่งชั้นที่อย่างลงตัวเป็นเสมือนการสร้างความสนุกของการเดินในบ้านผ่านเส้นทางประสบการณ์ที่สถาปนิกเป็นผู้เล่าเรื่องราว
ad-bkk
ความหลงใหลในการทับซ้อนของรูปทรงเรขาคณิตเปิดทางสมองได้เรียนรู้กับ “ความงามในความคิด” การชมและการสะสมงานศิลปะของอาจารย์อินทนนท์จึงไม่หยุดแค่ความสวยงาม แต่คือการเรียนรู้จังหวะของความน้อย – มากร่วมกันกับคำว่า “พอดี” ที่จับเข้าไปในความรู้สึกและตัวตนของตัวเองขณะมองภาพนั้นได้จริงๆ

“A Hidden Bird is Often Herd” นิยามที่ดูแสนจะธรรมดาของอาจารย์อินทนนท์ที่วางไว้ให้กับ “INchan” (อินจัน) แต่รายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในทุกๆ ตารางเมตรของการออกแบบเหมือนกับเสียงของนกตัวเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในต้นไม้ใหญ่ แม้มองไม่เห็นแต่ก็เพลิดเพลินใจอย่างยิ่งที่ได้ยิน

จิตวิญญาณของสถาปนิกที่ต้องการเติม “ชีวิต” ให้กับคำว่า “บ้าน” อ.อินทนน์ จันทร์ทิพย์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
e-book-1-503x62