ต่างชาติทิ้งบอนด์ 2 หมื่นล้าน บลจ.ปรับพอร์ตหนีแรงขายหุ้นทั่วโลก

11 ก.พ. 2561 | 01:17 น.
ต่างชาติเทขายตราสารหนี้ไทยแล้ว 2 หมื่นล้านบาท ลดเสี่ยงตลาดหุ้นโลกผันผวน เหตุทำกำไรระยะสั้น สำนักงานบริหารหนี้แจงผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีไทยนิ่ง แม้ตลาดบอนด์ระยะยาวสหรัฐฯเพิ่มขึ้น

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ10 ปี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นรอบ 4 ปีกว่า 2.88% หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯดีกว่าที่คาดการณ์ จากตัวเลขจ้างงานและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นและกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่คาดการณ์ทำให้เกิดแรงเทขายหุ้นออกมาอย่างหนักโดยเฉพาะดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กลดลงรุนแรงทำให้หุ้นทั่วโลกลดตาม

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า การซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ไทยเองผันผวนตามตลาดโลก เป็นเรื่องปกติ เพราะนักลงทุนทั้งในแง่ที่เป็นบลจ.หรือต่างชาติเองก็ต้องปรับตัวตามทิศทางตลาด ล่าสุดต่างชาติได้เทขายตราสารหนี้ออกไป โดยจะเห็นว่าจากยอดซื้อขายของต่างชาติที่เคยสูงถึง 7-8 หมื่นล้านบาทในช่วงปลายเดือนมกราคมขณะนี้มียอดคงค้างเหลือประมาณ 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

“การปรับพอร์ตการลงทุนเป็นเรื่องปกติของนักลงทุนอยู่แล้ว ถ้า Yield พันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นก็จะหันมาลดอายุพันธบัตรให้สั้นลง ซึ่งสบน.เองก็จับตาดูตลาดแต่เราไม่ได้มองในแง่ของการทำกำไรเหมือนนักลงทุน อื่นๆ แต่เป็นการบริหารความเสี่ยงดูให้ปลอดภัย โดยบริหารต้นทุนให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับตลาด”

สำหรับพันธบัตรระยะยาว อายุ 10 ปีของไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยปัจจุบันอยู่ที่2.3% ซึ่งหากมองภาพรวมจะเห็นว่าค่อนข้างนิ่ง เพราะถ้าตลาดสหรัฐฯปรับขึ้นประมาณ 20 basis point ไทยจะปรับขึ้นเพียง3-4 basispoint เท่านั้น

ขณะที่พันธบัตรระยะสั้นไทยนิ่งมาก และขณะนี้สภาพคล่องในตลาดยังเหลือมาก โดยจะเห็นจากการประมูลพันธบัตรล่าสุด 1.2 หมื่นล้านบาท ยังมีการประมูลเข้ามามาก ดังนั้นแม้จะมีแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติก็ยังมีแรงรับซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศเช่นเดียวกัน

MP19-3339-A “พันธบัตรที่มีการซื้อขายกันมากขณะนี้เป็นระยะสั้นอายุตํ่ากว่า 1ปี ซึ่งเป็นผลกระทบจากตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯและแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น จึงกังวลว่าจะทำให้มีเงินไหลกลับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกระแสเงินโลกที่มาหากำไรจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น ขณะที่เงินลงทุนจริงที่เป็น real moneyยังอยู่ครบแม้เงินสหรัฐฯจะไหลกลับ แต่ก็ยังมีเงินของญี่ปุ่นและยุโรปที่ยังเหลืออยู่มากเช่นกัน”

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า คาดว่าการปรับพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ จะเกิดขึ้นในช่วงระยะสั้น ประมาณ 1-2 เดือน จากความกังวลตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น ทำให้กังวลว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่ม ขึ้นและเฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้กระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ เกิดแรงขายจากความตื่นตระหนก (panic sell)

ad-bkk “ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผู้จัดการกองทุนได้ปรับสัดส่วนการลงทุน โดยปรับลดการลงทุนในหุ้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เข้าลงทุนให้หุ้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาดโดยรวม (Laggard stock) โดยเลือกหุ้นที่มีฐานะทางการเงินที่ดี หุ้นที่มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นในระยะสั้น และกระจายพอร์ตการลงทุน ไม่กระจุกตัวในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ไม่ว่าจะจำนวนหุ้นหรือ กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้นในระยะสั้น โดยคาดว่าจะสามารถลดความเสี่ยงจากการปรับตัวลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นในระยะสั้นได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 11- 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
e-book-1-503x62