จ่อบีบโรงงานส่งออก ซื้อนํ้าตาลราคาในปท.

12 ก.พ. 2561 | 07:21 น.
วงการนํ้าตาลปูดมีชาว ไร่อ้อยและโรงงานบางส่วน ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตเพื่อส่งออกหันมาซื้อนํ้าตาลราคาในประเทศ จุดฉนวนเลิกซื้อจากราคาอนท. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารโอดจะทำให้ต้นทุนนํ้าตาลพุ่ง 20% อีกทั้งแบกภาระค่าแรงและยังต้องเผชิญปัญหาค่าเงินซํ้าเติมรอบด้าน

นับจากที่ราคานํ้าตาลลอยตัว โดยเฉพาะในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคภาคครัวเรือนยอมรับได้กับราคาใหม่ เพราะบริโภคนํ้าตาลขายปลีกในโมเดิร์นเทรดในราคาที่ถูกลง 2 บาทต่อกิโลกรัมจากราคา 23.50 บาทต่อกิโลกรัมลงมาอยู่ที่ 21.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้ามองในด้านภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตเพื่อส่งออกกลับอยู่ในสถานการณ์วิตกกังวล เนื่องจากมีกลุ่มชาวไร่อ้อยและโรงงานนํ้าตาลบางรายมองว่า ในเมื่อราคานํ้าตาลลอยตัวไปแล้ว ราคานํ้าตาลที่ขายให้ภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกควรจะซื้อนํ้าตาลในราคาในประเทศ จากเดิมที่ซื้อนํ้าตาลในราคาจากบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทย จำกัด หรืออนท.หรือซื้อนํ้าตาลในราคานํ้าตาลโควตา ค.เดิม

app47814682_m แหล่งข่าววงการอ้อยและนํ้าตาลกล่าวว่า เรื่องนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (สอน.) กำลังศึกษาความเป็นไปได้อยู่ เนื่อง จากมีทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้ที่ได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อการส่งออกจะมีต้นทุนสูงขึ้น ในขณะที่ชาวไร่อ้อย โรงงานนํ้าตาลจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์เพราะราคานํ้าตาลสูงขึ้น ส่วนความคืบหน้าการระบายสต๊อก นํ้าตาลราว 4 แสนกระสอบที่ค้างอยู่นั้น ขณะนี้ได้ระบายหมดไปแล้ว แปลว่าขณะนี้ราคานํ้าตาลหน้าโรงงานและราคาขายปลีกลอยตัว 100% แล้ว โดยผู้บริโภคใช้นํ้าตาลในราคาที่ถูกกว่าเดิม ส่วนอนาคตยังไม่สามารถตอบได้ว่าราคานํ้าตาลจะเป็นอย่างไรเพราะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายปัจจัย

appDSCN8670 นายปิยวงศ์ ศรีแสงนาม เลขาธิการ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตผลไม้อบแห้งส่งออกกล่าวว่า ถ้าให้ผู้ประกอบการหันมาใช้นํ้าตาลราคาในประเทศ และยกเลิกการซื้อในราคาอนท. จะทำให้ต้นทุนด้านนํ้าตาลของบริษัท เจริญอุตสาหกรรมฯสูงขึ้นทันที 20% เนื่องจากปัจจุบันเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกสัดส่วนสูงถึง 95% ยอมรับว่าเผชิญปัญหารอบด้านทั้งต้นทุนที่สูงขึ้น ค่าแรงงานที่กำลังจ่อจะปรับขึ้นวันที่ 1 เมษายนนี้ รวมถึงปัญหาที่หนักใจที่สุดในขณะนี้คือผลกระทบจากบาทแข็งค่ากระทบต่อการส่งออกโดยตรง สำหรับต้นทุนด้านนํ้าตาล อยากจะให้คงที่ราคาอนท.ไว้ซึ่งจะถูกกว่าราคาในประเทศ

ad-bkk ด้านนายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท นํ้าตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า เรื่องนี้ถ้ามีการเสนอเข้าพิจารณาในคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย ก็ไม่น่าจะผ่าน เพราะเวลานี้ราคาในประเทศกับราคาตลาดโลกยังต่างกันอยู่ ซึ่งราคาในประเทศยังมีค่าบริหารจัดการ ค่าต้นทุน ค่าขนส่ง จึงมั่นใจว่าราคานํ้าตาลสำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อส่งออกยังซื้อที่ราคาอนท.ต่อไป ไม่เช่นนั้นแล้วกลายเป็นว่าผู้ประกอบการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกที่ใช้นํ้าตาลเป็นวัตถุดิบต้องแบกภาระต้นทุนสูงขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 9 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว