'กอบศักดิ์' ชูปีนี้! เร่งลงทุน 'เมกะโปรเจ็กต์' ทุกด้าน หวังพลิกฟื้นประเทศไทย

08 ก.พ. 2561 | 18:29 น.
0104

“กอบศักดิ์” ชู 1 ปีสุดท้ายของรัฐบาล เร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า พัฒนาสนามบิน และการลงทุนใน “อีอีซี”  ควบคู่การลงทุนย่อยระดับฐานรากในแต่จังหวัด คาดหวังพลิกฟื้นประเทศไทย สร้างโอกาสการทำธุรกิจให้กับคนไทยทุกคน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จัดสัมมนา "หุ้นไทยไป 2,000 จุด ?” และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาหัวข้อ นโยบายการลงทุนภาครัฐกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้อธิบายถึงภารกิจในช่วง 1 ปี ที่เหลือของรัฐบาลที่เตรียมงานไว้สำหรับอนาคต 5 ส่วน คือ การแก้กฎหมาย ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และสร้างคนไทยยุคใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยที่เอื้อกับการทำธุรกิจของทุกคน  รวมทั้งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวระดับเดียวกับอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ที่ขยายตัว 5-6%

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ควบคู่การลงทุนขนาดเล็ก เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทย โดยที่ผ่านมาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก นับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผ่านมา 6 รัฐบาล มีการลงทุนโครงการเดียว คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์


3259

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากเมื่อเทียบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลนี้เริ่มต้นด้วยการประมูล 4G จากนั้นประมูลรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง 1,000 กิโลเมตร และปี 2561 จะสร้างอีก 1,500 กิโลเมตร มีเส้นทางใหม่ เช่น บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม, เด่นชัย-เชียงราย, วารินชำราบ-ช่องเม็ก

ส่วนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง จะมีเวที Market Sounding ในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า และจะเปิดประมูลได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ในขณะที่รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ได้เริ่มก่อสร้างในช่วงนครราชสีมาแล้ว

การลงทุนรถไฟฟ้าในปี 2561 จะประมูลทุกเส้นทางที่เหลืออยู่ 4-5 สาย ทำให้ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่ แต่เข้ามาเบิกจ่ายงบลงทุนเลย ถือเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปี 2560 ที่เปิดประมูลสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี)


3260

สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมทางอากาศ ได้เร่งรัดให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ซึ่งวางแผนมาตั้งแต่ปี 2553 และตั้งงบไว้แล้ว 51,600 ล้านบาท ซึ่งกำลังก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 2 จะรองรับผู้โดยสารได้ 50% ของอาคารผู้โดยสารที่ 1 รวมทั้งมีแผนขยายสนามบินดอนเมือง สนามบินอู่ตะเภา และสนามบินต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ อุดรธานี

นอกจากนี้ การพัฒนามอเตอร์เวย์ตามแผนที่วางไว้จะมีเส้นทางนครปฐม-ชะอำ, บางใหญ่-กาญจนบุรี ส่วนที่เริ่มสร้างแล้วมีเส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา, พัทยา-มาบตาพุด

และโครงสร้างพื้นฐานกลุ่มสุดท้าย คือ การพัฒนาท่าเรือจะมีโครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ที่จะดำเนินการให้เสร็จใน 2561 รวมทั้งมีการลงทุนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และท่าเรือสำราญ


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการเกิดขึ้นใน “อีอีซี” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้อีอีซีเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ หลังจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีผลงานโชติช่วงชัชวาล หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีผลงานเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก จะปลดล็อคการลงทุนในอีอีซี โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ผู้ร่วมยกร่างกฎหมายได้เสนอให้เพิ่มอำนาจการบริหารพื้นที่และการออกอนุญาตต่าง ๆ ให้กับเลขาธิการอีอีซี  เพื่อเป็นเครื่องมือในการแข่งขันดึงการลงทุนจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ การลงทุนของภาคเอกชนจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นจากที่เคยนิ่ง ๆ  โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของตึกสูงในกรุงเทพฯ จะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น โครงการวันแบงค็อกที่สวนลุมไนท์บาซ่าเดิม โครงการมิกซ์ยูสของกลุ่มดุสิตธานีและกลุ่มเซ็นทรัลที่โรงแรมดุสิตธานีเดิม โครงการไอคอนสยามและหอชมเมือง


3261

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การลงทุนย่อยระดับพื้นที่ รัฐบาลจะใช้วิธีสำรวจความต้องการของแต่ละพื้นที่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยที่ผ่านมานายกฯ ลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่า ภาคธุรกิจใน จ.กาฬสินธุ์ ถูก จ.ขอนแก่น ดึงไป แต่พบว่า จ.กาฬสินธุ์ มีเขื่อนลำปาวที่ส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ เช่น การแข่งขันเจ็ตสกีกระตุ้นการท่องเที่ยว การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม การแก้ปัญหาน้ำ

นอกจากนี้ รัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เช่น กฎหมายสถาบันการเงินชุมชน เพื่อให้กลุ่มออมทรัพย์ต่าง ๆ เป็นนิติบุคคล  โดยที่ผ่านมาพบความสำเร็จของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของพระอาจารย์สุบิน ปณีโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.ตราด ที่มีเงินออม 2,700 ล้านบาท โดยถ้าทุกชุมชนทำได้จะมีการออม ปลดหนี้ และเป็นแหล่งทุนที่ไม่พึ่งธนาคาร และรัฐบาลเชื่อว่า ถ้าดำเนินการได้จะช่วยพลิกฟื้นประเทศไทยได้


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว