ก.พลังงานจ่อบังคับใช้ Building Energy Code

08 ก.พ. 2561 | 11:58 น.
ก.พลังงานจ่อบังคับใช้ Building Energy Code

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมีดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เห็นชอบการออก “กฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือขนาดอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.....” หรือเรียกว่า “เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพด้านพลังงานในอาคาร Building Energy Code” ตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เสนอ

โดยการกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานกับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้อาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ 1) สำนักงาน 2) โรงแรม 3) โรงพยาบาล 4) ศูนย์การค้า 5) โรงมหรสพ 6) สถานบริการ 7) อาคารชุมนุมคน 8) อาคารชุด และ 9) สถานศึกษา ที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องออกแบบ ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่ระบุในกฎกระทรวงฯ ได้แก่ ระบบกรอบอาคาร ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบผลิตน้ำร้อน และการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยให้มีการบังคับใช้กับอาคารขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก่อนและทยอยบังคับใช้กับอาคารทั้ง 9 ประเภท ภายใน 3 ปี โดยมีกรอบการดำเนินงาน ดังนี้

tawa

- ปีที่ 1 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
- ปีที่ 2 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
- ปีที่ 3 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป

ทั้งนี้ การกำหนดมาตรฐานด้านพลังงานของอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง จะทำให้การใช้พลังงานภายในอาคารมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประหยัดพลังงานได้มากกว่าร้อยละ 10 โดยมีเป้าหมายว่าภายใน 20 ปี จะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้รวมประมาณ 13,700 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 48,000 ล้านบาท ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 7 มี.ค. 2561 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาข้อกฎหมายของกฤษฎีกา 1 เดือน หากผ่านการพิจารณาจะมีผลบังคับใช้หลัง 120 วันนับจากวันออกประกาศต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุม กบง. เห็นชอบ ให้นำข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เรื่องการมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กำกับดูแลค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อรายงานต่อ กพช. โดยมีข้อคิดเห็นว่า กิจกรรมขนส่งน้ำมันทางท่อ ในการควบคุมอัตราค่าบริการให้มีความเหมาะสม และมีการแข่งขันกับผู้ประกอบกิจการขนส่งน้ำมัน ด้วยวิธีการอื่นๆ อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

รวมทั้งในขณะนี้มีการกำกับดูแลธุรกิจการขนส่งน้ำมันทางท่อ โดยการขึ้นทะเบียนกับกรมธุรกิจพลังงาน ประกอบกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 สามารถกำกับการใช้อำนาจเหนือตลาดได้อยู่แล้ว จึงมีความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ กกพ. จะต้องกำกับดูแลในเรื่องค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อ ทั้งนี้ ให้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าอีกครั้ง ก่อนนำเสนอ กพช. ต่อไป

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กบง. รับทราบ รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 (PDP 2015) ไตรมาสที่ 3 ถึง ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการจัดรับฟังความเห็นค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ (Load Forecast) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พร้อมทั้งตั้งสมมุติฐานใน 3 ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญคือ
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ทำให้ต้นทุนลดต่ำลง (Disruptive Technology)
การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการขยายตัวของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน (Solar Roof Top) และยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะต้องนำมาตั้งสมมุติฐานในการจัดทำแผน PDP เพิ่มเติม โดย PDP ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น จะแยกการศึกษาเชิงลึก ถึงการใช้และผลิตไฟฟ้าเป็นรายภาค รวมไปจนถึงการศึกษาเพื่อกำหนดประเภทเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคต

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว