“พรเพชร”มั่นใจสนช.ไม่โหวตคว่ำ2ร่างกฎหมายลูก

08 ก.พ. 2561 | 11:29 น.
ประธาน สนช. เตรียมตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย สัปดาห์หน้า เชื่อคว่ำร่างกฎหมายลูกทำได้ยาก หวังได้ข้อสรุปในชั้นกรรมาธิการร่วม พร้อมระบุ ยังไม่มีความจำเป็นยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

วันนี้(8ก.พ.2561)เว็บไซต์ http://www.radioparliament.net รายงานว่า ศ.พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติที่จะส่งข้อโต้แย้งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( ส.ส.) และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ

org_6610734583

โดยข้อโต้แย้งของ กรธ.ในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่าจะเป็นประเด็นที่ กรธ เห็นว่า ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะข้อเสนอให้สามารถช่วยผู้พิการใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งโดยกาบัตรแทนได้ ส่วนการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถจัดมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง เห็นว่ายังอยู่ในวิสัยที่น่าจะหารือกันได้ ขณะที่ข้อโต้แย้งในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. คาดว่าประเด็นใหญ่จะเป็นประเด็นที่ กรธ.อ้างว่า ไปปรับเปลี่ยนสาระสำคัญ 3 หลัก ทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ 1.การเปลี่ยนกลุ่ม ส.ว. 2.องค์ประกอบของกลุ่ม และ 3.วิธีการโหวตแบบตรงหรือแบบไขว้

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการส่งร่างกฎหมายลูกดังกล่าวมาให้ สนช.ในวันพรุ่งนี้  (9 ก.พ.2561) เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายในสัปดาห์หน้า ส่วนในชั้นกรรมาธิการร่วมจะทำให้เนื้อหาในร่างกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปจากมติของ สนช. หรือไม่นั้น มองว่าไม่จำเป็นต้องยืนตามความเห็นเดิมของ สนช. ทั้งหมด เพราะการตั้งกรรมาธิการร่วม ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกัน มาพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง และผ่อนคลายความเห็นเดิม ดังนั้นบางประเด็นอาจมีการเจรจาเปลี่ยนแปลงได้ และเบื้องต้น สนช.เห็นว่าไม่จำเป็นต้องส่งทั้งร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่หลังการแก้ในชั้นกรรมาธิการร่วม หากเห็นว่ามีประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอำนาจของ สนช. ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้

ขณะที่ข้อกังวลว่าหลังการพิจารณาของกรรมาธิการร่วม อาจมีการคว่ำร่างกฎหมายในชั้นการพิจารณาของ สนช. ได้นั้น ประธาน สนช. เชื่อว่าทำได้ยาก เพราะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิก แต่ก็เป็นสิทธิของสมาชิก และส่วนตัวเชื่อมั่นว่า ความเห็นต่างเริ่มมีความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว จึงคิดว่าคงไม่มีการคว่ำร่างกฎหมายลูก และไม่เห็นด้วยที่จะมีการคว่ำร่างกฎหมายลูกดังกล่าว เพื่อยึดระยะเวลาการเลือกตั้งออกไป ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว