ธพว.ผนึก 4 พันธมิตรสร้างมาตรฐานสินค้าภูธร

08 ก.พ. 2561 | 07:55 น.
ธพว. จับมือ สสว. สถาบันอาหาร เซ็นทรัลแล็ป และกระทรวงสาธารณสุข ยกระดับมาตรฐานเอสเอ็มอี  นำร่อง “ไก่ย่างเขาสวนกวาง”สร้างโมเดลธุรกิจร้านอาหาร ยุค 4.0 สร้างมาตรฐาน เพิ่มรายได้ ต่อยอดสินเชื่อสู่ชุมชนหนุนเติบโตยั่งยืน

[caption id="attachment_257408" align="aligncenter" width="302"] นายมงคล ลีลาธรรม นายมงคล ลีลาธรรม[/caption]

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือธพว.) เปิดเผยว่า  ภารกิจหลักของธนาคาร ปี 2561 คือ การเป็น MSME Development Bank หรือธนาคารเพื่อสนับสนุน SMEsคนตัวเล็ก หรือ “จุลเอสเอ็มอี”เพื่อยกระดับเศรษฐกิจระดับชุมชน หรือ Local Economy ดังนั้น สิ่งที่ต้องเน้นหนักและทำอย่างเร่งด่วน คือ การเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนให้มีมาตรฐาน ปรับโฉม ยกระดับธุรกิจ  ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า และขยายตลาดให้กว้างขวาง โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนทั้งด้านความรู้ ควบคู่บริการเงินทุน

ทั้งนี้  เพื่อตอกย้ำการทำงานเชิงรุกตามแผนงานที่วางไว้ ธนาคารจึงได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายออกเป็นรายภูมิภาค  โดยพื้นที่นำร่อง คือ อ.เขาสวนกวาง (จังหวัดขอนแก่น) ซึ่งมีธุรกิจร้านอาหารท้องถิ่น คือ ร้านไก่ย่างเขาสวนกวาง รูปแบบการพัฒนา จึงเข้าไปทำงานร่วมกับพันธมิตรจากหลายหน่วยงานรวม 3 ด้าน คือ 1. สร้างมาตรฐานคุณภาพของสินค้า โดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือเซ็นทรัลแล็บไทย ตรวจคุณภาพและออกใบรับรองมาตรฐานให้กับผู้ผลิตไก่ย่างแต่ละราย จุดประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า หากรับประทานไก่ย่างเขาสวนกวางแล้ว ไก่ทุกตัวต้องถูกสุขลักษณะ สะอาด ปลอดภัย

2.พัฒนาวิธีจัดเก็บหรือยืดอายุไก่ย่างให้นานขึ้น เนื่องจากการจัดเก็บเพื่อส่ง “ไก่ย่างเขาสวนกวาง” ไปพื้นที่ต่างๆ โดยร่วมมือกับสถาบันอาหาร เข้าไปพัฒนาวิธีจัดเก็บและยืดอายุไก่ย่างให้นานกว่า 15 วัน  ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายตลาดได้ทั่วประเทศ  รวมถึง ตลาดประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV  และ 3. การพัฒนารูปแบบของร้านค้าให้ถูกสุขลักษณะ ปัจจุบัน บริเวณสองข้างทางถนนมิตรภาพ (ช่วง อ.เขาสวนกวาง) จังหวัดขอนแก่น-จ.อุดรธานี ตลอดเส้นทางจะมีร้านอาหารอีสานเปิดบริการมากกว่า 100-200 ร้าน ทว่า ส่วนใหญ่ยังเป็นร้านเพิงริมทาง “SME Development Bank” มองเห็นจุดอ่อนตรงนี้จึงเข้าไปส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ปรับรูปแบบร้านให้โดดเด่น ยกระดับร้านให้มีมาตรฐาน ในส่วนพื้นที่เตรียมอาหารให้สะอาด ลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน ปรับปรุงห้องสุขา และสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนทุนหมุนเวียนสำหรับซื้อวัตถุดิบใช้ในกิจการได้อีกด้วย นอกจากการพัฒนาข้างต้นแล้ว ธนาคารจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำบัญชีครัวเรือนอย่างง่าย เพื่อให้ทราบถึงต้นทุน-กำไรแต่ละวัน รู้จักวิธีบริหารสต๊อกสินค้า รองรับการยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารที่กำหนดให้ต้องใช้บัญชีเดียวกับที่ยื่นกรมสรรพากร

นายมงคล กล่าวต่อไปว่า คาดผลตอบรับจากการเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการครั้งนี้ จะมีผู้ประกอบการ“ร้านไก่ย่างเขาสวนกวาง” สนใจเข้ารับการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 50% จาก 100-200 ร้าน โดยธนาคารได้เตรียมแพคเกจสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อยวงเงินรวม 70,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3โครงการ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 50,000ล้านบาท เน้นช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท  3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียม บสย. 4 ปีแรก, 2) โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEsคนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 1% และ 3) สินเชื่อ Factoring วงเงิน 12,000 ล้านบาท กู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีโปรโมชั่น 7:1:0 โดย 7 ตัวแรกคือ พร้อมอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน, 1 คือ เบิกจ่ายภายใน 1วัน และ 0 คือ ฟรีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บหนี้

นอกจากนี้ ธนาคารยังเข้าไปส่งเสริมให้ร้านที่มีการผลิตปริมาณสูง หากต้องการลงทุนเครื่องระบบซีลสุญญากาศ (Vacuum Sealing Machine)ช่วยยืดอายุของไก่ย่างได้นานขึ้นจากเดิมที่เก็บได้เพียง 3 วัน เพิ่มเป็น 15 วัน เพื่อขยายตลาดไปสู่ตลาดใหม่แล้วสามารถยื่นขอสินเชื่อกับทางธนาคารได้เช่นกัน จากข้อมูลพบว่า ราคาเฉลี่ยของเครื่องซีลสูญญากาศเฉลี่ยอยู่ที่เครื่องละ 50,000-60,000 บาท เฉพาะอำเภอเขาสวนกวาง มีเครื่องระบบซีลสูญญากาศเพียง 2 เครื่องเท่านั้น หากมีการเพิ่มการลงทุนในลักษณะรวมกลุ่ม ทำให้ไก่ย่างเขาสวนกวางขยายไปสู่ตลาดใหม่ในอนาคต

“ขณะนี้มีร้านที่ผ่านการอนุมัติแล้ว 2 ราย คือ1.ร้านบัวตอง โดย น.ส. จันทราวรรณ สุดาทิพย์ วงเงิน 1 แสนบาท สำหรับใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ และ 2.ร้านน้องไอโฟน โดย น.ส. พัชรี อุตลาด วงเงินที่ได้รับ 50,000 บาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ จากการประเมินวงเงินสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายไม่เกิน 2 แสนบาท แนวทางธนาคารเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการ คือ ส่งเสริมร้านให้ถูกสุขลักษณะ โดยไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตหรือรูปแบบของร้าน แต่เลือกนำเอกลักษณ์ของร้านที่ให้กลิ่นอายลูกทุ่ง รสชาติอาหารที่จัดจ้าน นั่นคือเอกลักษณ์ของไก่ย่างเขาสวนกวาง ที่ทุกร้านต้องรักษาไว้” นายมงคล กล่าว ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว