เมียนมาชูมินบูโรงไฟฟ้าต้นแบบ VTE เปิดเฟสแรก 50 เมกะวัตต์ เดินหน้าลงทุนต่อ

10 ก.พ. 2561 | 01:36 น.
เปิดแล้วอย่างเป็นทางการ “มินบู”โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เฟส 1 ขนาด 50 เมกะวัตต์ ทางการเมียนมาชูโรงไฟฟ้าต้นแบบ เดินหน้าลงทุนเฟสต่อไป

คณะผู้บริหารบริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) (VTE) พร้อมผู้ร่วมทุนประกอบด้วยบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) และบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเปิดโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขนาด 220 MWDC ในประเทศสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
H.E. U Win Khaing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานของประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นประธานเปิดงานท่ามกลางสักขีพยานที่เป็นผู้แทนจากสถาบันการเงิน นักลงทุน จากจีน ไทย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา โดยกล่าวแสดงความมั่นใจว่า โครงการโรงไฟฟ้ามินบูจะกลายเป็นโครงการต้นแบบที่ดีและเป็นความภาคภูมิใจของเมียนมา

[caption id="attachment_257362" align="aligncenter" width="503"] MP18-3338-1A คณะผู้บริหาร VTE และพันธมิตรร่วมเปิดโรงไฟฟ้ามินบู ที่เมียนมาอย่างเป็นทางการ[/caption]

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ พื้นที่รวมของโครงการมีขนาด 836 เอเคอร์ หรือเท่ากับ 2,115 ไร่
นายออง ทีฮา ประธานกรรมการ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเปิดตัวอย่างเป็นทางการสำหรับ Phase 1 ของโครงการที่สร้างขึ้นบนเนื้อที่ 160 เอเคอร์ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 50 MWDC หรือ 40 MWAC

Phase 1 นี้จะติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์จำนวน 160,000 แผง ซึ่งแผงทั้งหมดได้ถูกจัดส่งและเก็บไว้ในโครงการแล้ว นอกจากนี้ Phase 1 ยังถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากของโครงการ โดยจะมีการก่อสร้างสถานีจ่ายไฟย่อยขนาด 220 MVA เพื่อใช้ส่งไฟฟ้าเข้ากริดไฟฟ้าของประเทศ (National grid) โดยทางโครงการได้วางแผนล่วงหน้าและดำเนินการก่อสร้างสายส่งเข้า/ ออก ขนาด 230kV (Transmission Line) เสร็จสิ้นพร้อมทั้งได้เชื่อมต่อกับกริดไฟฟ้าของประเทศ และส่งมอบให้ EPGE เป็นที่เรียบร้อยแล้วอีกด้วย

ทั้งนี้บริษัทได้รับสัมปทานเพื่อพัฒนาและดำเนินงานแบบ BOT (Built-Operate-Transfer) มีระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ 0.1275 USD ต่อ kWh ซึ่งแบ่งการดำเนินการก่อสร้างออกเป็นทั้งหมด 4 ระยะ โดย 3 ระยะ แรกจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 50 MW และ 70 MW สำหรับระยะสุดท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,338 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว