ผุดคอมเพล็กซ์ศก.ชีวภาพ กลุ่มปตท.ร่วมทุน KTIS ทุ่ม 7.6 พันล.ที่นครสวรรค์เชื่อมอีอีซี

10 ก.พ. 2561 | 14:09 น.
“จีจีซี”บริษัทในกลุ่มปตท.จับมือเกษตรไทยฯ ร่วมทุนไบโอคอมเพล็กซ์ ที่จ.นครสวรรค์ ทุ่มเฟสแรก 7.65 พันล้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับก่อนต่อยอดไปสู่โครงการลงทุน3 หมื่นล้านในช่วง 5-10 ปีเป็นการต่อยอดไบโออีโคโนมีเชื่อมโยงกับอีอีซี

นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีจีซี ในเครือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน)หรือพีทีทีจีซี เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโออีโคโนมี คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อเป็นโมเดลในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ในการพัฒนาจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรม เชื่อมโยงเกษตร-อุตสาหกรรมครบวงจรด้วยกลไกประชารัฐและถือเป็นการต่อยอดจากอุตสาหกรรมชีวภาพที่มีการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เชื่อมโยงสู่การพัฒนาเป็นไบโอคอมเพล็กซ์ ที่ใช้นํ้าตาลและมันสำปะหลังเป็นพืชนำร่อง

ทั้งนี้ หากยุทธศาสตร์การ พัฒนาฯประกาศออกมาแล้ว จะช่วยให้ไบโออีโคโนมีเกิดขึ้นได้ เนื่องจากจะมีมาตรการส่งเสริมคล้ายกับการให้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับพื้นที่อีอีซี รวมถึงมีการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและนํ้าตาลทราย ที่จะช่วยลดอุปสรรคในการตั้งโรงหีบอ้อยในรัศมีตํ่ากว่า 50 กิโลเมตรจากโรงงานนํ้าตาลที่ตั้งอยู่ก่อนแล้วได้ อีกทั้งอนุญาตให้นำนํ้าอ้อยไปเป็นวัตถุดิบอื่นๆได้นอกจากผลิตนํ้าตาลทราย

TP11-3338-A ดังนั้น เพื่อเป็นการสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาไบโออีโคโนมีดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือKTISเพื่อลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์ (Biocomplex) พัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพในพื้นที่นำร่อง อำเภอ ตาลคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นฝ่ายละ 50%

โดยการลงทุนบนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่จะแบ่งโครงการออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก จะเป็นโครงการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร เช่น โรงงานผลิตเอทานอลขนาด6แสนลิตรต่อวันไฟฟ้าชีวมวลระบบสาธารณูปโภค และระบบส่งเสริมกระบวนการผลิตกลางของโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าลงทุนราว 7,650 ล้านบาทซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ ขณะที่ระยะ 2 จะเป็นการลงทุนในส่วนของโรงงานเคมีและพลาสติกชีวภาพ โรงงานอาหารเสริมมูลค่าการลงทุนจากการประเมินราว1-3หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ระยะ จะใช้เวลาการพัฒนาประมาณ 5-10 ปี โดยวัตถุดิบที่ผลิตได้จากโครงการนี้สามารถที่จะนำไปต่อยอดหรือส่งไปเป็นวัตถุดิบเชื่อมโยงการลงทุนในพื้นที่อีอีซีได้ และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่มีเทคโนโลยี เช่น ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าว จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจชีวภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เกิดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้สมัยใหม่ด้านเกษตรกรรมในพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ในระยะเริ่มต้น รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 6-7.5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี หรือประมาณ 3 แสนบาทต่อครอบครัวต่อปี อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า1หมื่นครัวเรือนเกิดการจ้างงานทักษะสูงในกลุ่มพลังงานชีวภาพ เคมีและพลาสติกชีวภาพกว่า 400 ตำแหน่ง ช่วยสนับสนุนการผลิตพลังงานชีวภาพ ที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,338 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6