สยบ 'บิ๊กป้อม' ลาออก! มั่นใจ คสช. ควบคุมสังคมได้

26 ก.พ. 2561 | 10:52 น.
1751

ท่ามกลางกระแสข่าว ‘บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ เตรียมลาออกจากรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เหลือเพียงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะ ‘พิษนาฬิกาหรู’

ทำเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องออกมาสยบข่าวลือดังกล่าว โดยยืนยันอย่างหนักแน่นที่จะนำพา ‘รัฐนาวา คสช.’ ไปให้ถึงฟากฝั่งด้วยกัน

“วันนี้อย่ารักผมคนเดียว รักรองนายกรัฐมนตรี รักรัฐมนตรี วันนี้มาทั้ง ครม. ประยุทธ์คนเดียวอยู่ไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยกันทั้งหมดนี่แหละ ใครต้องออกไปออกมา มันวุ่นกันไปหมด ต้องอยู่ด้วยกันวันนี้ เพราะเป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่น หากมีอะไรบกพร่องไปต้องขอโทษด้วย ไม่มีเจตนาเพื่ออะไรทั้งสิ้น อยู่ที่พวกเรา อย่ามาบอกว่า สืบทอดอำนาจ เพราะอำนาจอยู่ที่ประชาชนไปเลือกเอาเอง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันระหว่างยกคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปปฏิบัติภารกิจและประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.จันทบุรี ช่วงที่ผ่านมา

การออกมาสยบข่าว ‘บิ๊กป้อม’ ลาออก และการันตียังอยู่ร่วม ครม. ที่ออกจากปากนายกฯ สอดรับกับท่าทีของ พล.อ.ประวิตร ที่เปรยผ่านคนใกล้ชิด ขณะปฏิบัติภารกิจไปร่วมประชุมกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ว่า “ตอนนี้ยังทนได้ จะอดทนให้ถึงที่สุด และจะยังไม่ลาออก”


TP16-3338-1



มั่นใจ คสช. ควบคุมสังคมได้
นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้วิเคราะห์ถึงท่าทีของ พล.อ.ประวิตร ที่ไม่ลาออกจากตำแหน่ง ผ่านเฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งระบุว่า แสดงว่ามีความมั่นใจในอำนาจการควบคุมสังคมของ คสช. และการที่นายกฯ อุ้ม พล.อ.ประวิตร ต่อไป ทั้งที่ทราบว่า คะแนนนิยมตกต่ำ ย่อมชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อ พล.อ.ประวิตร มากกว่ากระแสของสังคม และแสดงว่า แกนหลักของรัฐบาลทั้ง 3 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ (เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย) จะล่มหัวจมท้ายกันต่อไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า

“เหตุผลของการไม่ลาออกที่สำคัญอย่างหนึ่ง น่าจะเกิดจากความหวั่นเกรงว่า หาก พล.อ.ประวิตร ลาออก จะส่งผลกระทบเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ที่อาจสั่น คลอนอำนาจ และเสถียรภาพของรัฐบาลได้ เพราะแรงกดดันทั้งมวลจะถาโถมลงมาสู่นายกฯ แทน การยืนกรานไม่ลาออก จึงถูกเลือกเป็นยุทธวิธี ซึ่งน่าจะเกิดจากการประเมินพลังอำนาจ คสช. ไว้ในระดับสูงในการรับมือและจัด การกับแรงกดดันต่าง ๆ จากสังคม ขณะเดียวกันก็ประเมินระดับแรงกดดันจากสังคมต่ำ”


ลดกระแสขับไล่ ‘บิ๊กป้อม’
นายพิชาย ชี้ว่า การพยายามใช้ความนิยมของนายกฯ ซึ่งปัจจุบันลดลงจากเดิมมาก เมื่อเทียบกับตอนเข้ามาใหม่ ๆ อุ้ม พล.อ.ประวิตร เพื่อดึงกระแสของสังคมให้ชอบ พล.อ.ประวิตร เหมือนชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ดังภาษิต “หากชอบฉัน ก็ต้องชอบเพื่อนของฉันด้วย” เป็นเกมที่อาจส่งผลลัพธ์ได้ 2 ทาง ทางแรก คือ เป็นไปตามที่ที่นายกฯ คาดหวังอยากให้เป็น คือ สังคมลดกระแสขับไล่ พล.อ.ประวิตร ออกจากตำแหน่ง เพราะมีความรักต่อนายกฯ จนยอมปิดตาข้างหนึ่ง หรือทางที่ 2 เป็นไปได้ว่า กระแสความไม่นิยมในตัว พล.อ.ประวิตร จะลุกลามและกระชากให้ความนิยมที่มีต่อนายกฯ ตกต่ำลงไปอีก ขณะเดียวกันความรู้สึกที่ว่า แทนที่จะไล่คนเดียว ก็ไล่ทั้งชุด ก็อาจเกิดขึ้นและขยายออกไปในวงกว้าง

“ความมั่นใจต่ออำนาจในการควบคุมสถานการณ์ภายใต้ความซับซ้อนและพลวัตของยุคสมัยปัจจุบัน เป็นสิ่งที่มีความเสี่ยง เพราะมีความเป็นไปได้เสมอในอนาคตว่า อาจมีเหตุการณ์บางอย่างอุบัติขึ้น แม้ดูเป็นเหตุการณ์ที่เล็ก ๆ แต่อาจสร้างผลสะเทือนต่อระบบอำนาจทั้งระบบได้ แต่เมื่อตัดสินใจไปแล้ว ก็เตรียมการรับมือกับผลสืบเนื่องที่จะตามมาให้ดีก็แล้วกัน”

 

[caption id="attachment_256942" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ[/caption]

‘บิ๊กป้อม’ แค่เหยื่อการเมือง
ด้าน นายตระกูล มีชัย อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองว่า พล.อ.ประวิตร คือ ‘เหยื่อ’ ที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการทำลายทั้งระบบ เหมือนเป็นการตีวัวกระทบคราด ประเด็นสำคัญ คือ แม้บิ๊กป้อมจะลาออกหรือไม่ออก ไม่ทำให้สถานการณ์ทั้งหมดดีขึ้น ถ้าลาออกก็ต้องมีเรื่องอื่นอีก เป็นการบั่นทอนข้างใน และจะมีผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่มีการวางแผนจะเดินเกมการเมือง จะไม่มีผลดีใด ๆ ทั้งสิ้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคิดว่า สังคมต้องการให้นายกฯ ประกาศว่า “ผมพอแล้ว” เหมือนคำพูดที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษและองคมนตรี เคยพูดเมื่อปี 2531 เพื่อให้กติกาเกิดความเป็นธรรมและทุกคนสู้กับกติกา ส่วนจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ไม่ใช่หน้าที่ที่นายกฯ จะเป็นห่วง แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนจะตัดสินเองและจะทำให้ระบบการเมืองเดินไปภายใต้กติกาที่เดินเอาไว้

ด้าน นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ชี้ว่า พล.อ.ประวิตร จะออกหรือไม่ออก เป็นเรื่องการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า จะทำให้มีความชัดเจนได้หรือไม่ เพราะ ป.ป.ช. ขอเอกสารจาก พล.อ.ประวิตร ไปหลายรอบแล้ว ทาง ป.ป.ช. ก็ต้องมีความชัดเจนให้สังคม ต้องชี้แจงกับสังคมว่า ได้เอกสารอย่างไร และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ขณะที่ นายกฯ มีอำนาจในการปรับ ครม. แต่สถานการณ์จริง พล.อ.ประวิตร เป็นบุคคลที่มีความสำคัญของ คสช. และรัฐบาล ในการวางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าขาด พล.อ.ประวิตร รัฐบาลจะเดินหน้าไปได้หรือไม่

“ขณะที่รัฐบาลก็ยังมีความเป็นเอกภาพ การเมืองในระบบค่อนข้างมีเสถียรภาพ เมื่อรัฐบาลมีเสถียรภาพ สิ่งที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วนได้ย่อมไม่พ้นการเมืองนอกสภาและองค์กรอิสระ” นายยุทธพร ระบุ

สถานการณ์ทางการเมืองภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ออกโรงอุ้ม พี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร ให้อยู่ค้ำ ‘รัฐบาล คสช.’ ต่อไปจะเป็นอย่างไรต่อไป น่าติดตามยิ่งนัก


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,338 วันที่ 8-10 ก.พ. 2561 หน้า 16

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว