ยกเครื่อง 2 ศูนย์การค้า ‘MBK-พาราไดซ์ พาร์ค’ปลุกนักช็อปคึกคัก

09 ก.พ. 2561 | 07:15 น.
MBK เปิดเกมรุกหนักยกเครื่องศูนย์การค้าเอ็มบีเค พร้อมเปิด 24 ชม. ดึงหน่วยงานราชการเข้ามาเสริมแกร่ง พร้อมพลิกโฉมศูนย์ฮ่า ฮ่า เป็นพาราไดซ์ เพลส หลังเข้าถือหุ้นพาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ แบบ 100%

นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการจัดระเบียบชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง ส่งผลให้ลูกค้าคนไทยเข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าเอ็มบีเคลดลง ทำให้บริษัทต้องปรับแผนการตลาดด้วยการดึงหน่วยงานราชการเข้ามาเปิดให้บริการแทน เนื่องจากมองว่าเอ็มบีเคมีทำเลที่ดี เดินทางสะดวก และยังไม่มีหน่วยงานราชการที่เข้ามาเปิดให้บริการใจกลางเมือง

ดังนั้นบริษัทจึงมีแผนปรับปรุงพื้นที่ศูนย์การค้าตั้งแต่ชั้น 1- 7 บริเวณโซนดี ซึ่งติดกับโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส พร้อมขยายเวลาเปิดให้บริการเป็นตลอด 24 ชั่วโมง จากเดิมจะเปิดให้บริการในเวลา 10.00-22.00 น. โดยหน่วยงานบริการต่างๆ จะเข้ามาให้บริการบริเวณชั้น5บนพื้นที่ประมาณ 5,000 ตร.ม.คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 3 นี้

[caption id="attachment_257176" align="aligncenter" width="467"] สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)[/caption]

ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนจัดกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่อง เพื่อสร้างบรรยากาศและดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ โดยเฉพาะการแข่งขันชกมวย MBK Fight Night บริเวณลานด้านหน้าศูนย์การค้า หลังจากประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติอย่างมาก โดยจะจัดกิจกรรมเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้งจากเดิมที่เดือนละ 1 ครั้ง โดยแต่ละครั้งที่จัดกิจกรรมจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 1 แสนคน จากเดิมที่มีลูกค้า 9 หมื่นคนต่อวัน

“เอ็มบีเคโฉมใหม่จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการไม่ตํ่ากว่า 1.2 แสนคนต่อวัน ซึ่งเป็นช่วงพีกสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน”

นายสมพล กล่าวอีกว่า หลังจากที่บริษัทซื้อหุ้นศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ต่อจากบริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด อีก 50% จากเดิมที่ถืออยู่ 50% เนื่องจากสยามพิวรรธน์ต้องมุ่งพัฒนาโครงการไอคอนสยาม ส่งผลให้บริษัทสามารถบริหารพาราไดซ์ พาร์คได้เต็มที่ โดยแผนงานเบื้องต้นบริษัทได้ปรับเปลี่ยนชื่อศูนย์การค้าฮ่าฮ่าซึ่งอยู่ติดกับพาราไดซ์ พาร์คเป็น “พาราไดซ์ เพลส” พร้อมกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน โดยพาราไดซ์ เพลส จะมุ่งเจาะกลุ่มคนทำงานขณะที่พาราไดซ์ พาร์คจะเน้นลูกค้าทั่วไปที่ชื่นชอบการช็อปปิ้ง

“นอกจากเปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว บริษัทได้ขยายพื้นที่เปิดให้บริการเพิ่ม บริเวณชั้น 2 ให้เป็นฟูดคอร์ดชั้น3 เป็นอาคารสำนักงานให้เช่า และชั้น4เป็นโรงเรียนสอนพิเศษและสถานที่ราชการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการทั้ง 4ชั้นภายในเดือนมีนาคมนี้ จากเดิมที่เปิดให้บริการเพียงชั้น 1เป็นโซนขายสินค้าทั่วไปและอาหารเท่านั้น”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีหลังการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงพาราไดซ์ พาร์คและพาราไดซ์ เพลสแล้ว บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น 5 หมื่นคนต่อวันจากเดิม 4 หมื่นคนต่อวัน

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 3 ปี 2560 มีรายได้ 7,144 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี2559ซึ่งมีรายได้ 7,987 ล้านบาท คิดเป็น 11% กำไรสุทธิ1,311ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 ซึ่งมีกำไรสุทธิ1,502 ล้านบาท คิดเป็น 13% โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจศูนย์การค้าราว40% ของรายได้ทั้งหมดส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจการเงิน, อาหาร,โรงแรมและการท่องเที่ยว, อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯขณะที่กลุ่มลูกค้าหลักของเอ็มบีเคแบ่งเป็นคนไทย50%และต่างชาติ 50% ได้แก่ ฮ่องกงสิงคโปร์ ตะวันออกกลางออสเตรเลีย ยุโรป ฯลฯ

ขณะที่ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค เดิมชื่อเสรีเซ็นเตอร์ ต่อมาในปี 2551 กลุ่มสยามพิวรรธน์ร่วมกับเอ็มบีเค เข้าซื้อกิจการพร้อมใช้งบลงทุนกว่า 3,200 ล้านบาทในการรีโนเวต ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อใหม่ พร้อมเพิ่มแม็กเน็ตดึงดูดลูกค้าไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าฮ่า ฮ่า ซึ่งเป็นอาคารเชื่อมต่อ นอกจากนี้ยังมีห้างสรรพสินค้าโตคิว วิลล่ามาร์เก็ต ตลาดเสรีมาร์เก็ต โฮมโปร สปอร์ตเวิลด์ และโรงภาพยนตร์พาราไดซ์ ซีนีเพล็กซ์ โดยพาราไดซ์ พาร์คได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทำให้กิจกรรมต่างๆ ตลอดจนร้านค้าจะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,338 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6