“บิ๊กฉัตร”เปิดตัว สทนช. มั่นใจสร้างเอกภาพแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม

07 ก.พ. 2561 | 10:27 น.
“ฉัตรชัย”เปิดตัว สทนช. อย่างเป็นทางการ พร้อมติดอาวุธให้พิจารณาข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ติดตามและประเมินผล พร้อมบูรณาการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำกว่า 30 หน่วยงาน เผยจะเป็นหน่วยงานด้านน้ำระดับประเทศ ที่มีความสำคัญและจะมีบทบาทมากในอนาคต มั่นใจจะสร้างความเป็นเอกภาพ ช่วยให้การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเป็นระบบ ไม่ซ้ำซ้อน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

วันนี้ (7 ก.พ. 61) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานให้โอวาทและมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ณ กรมชลประทาน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยมีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. พร้อมผู้บริหารให้การต้อนรับ
chat1 พล.อ. ฉัตรชัย เผยว่า สทนช .เป็นส่วนราชการ ที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 46/2560 โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งระบบมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อน ของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 30 หน่วยงานในปัจจุบัน และทำหน้าที่ในการบูรณาการข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ตลอดจนการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์จากการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

สทนช. ยังจะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2. ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) 3. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4. ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ

5. ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน 6. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมีการวางรากฐานมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วต่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 sntc รวมทั้งแผนงานเร่งด่วนและแผนการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ Area Base ซึ่งขณะนี้มีแผนงานที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้ว 216 โครงการ จำนวนเงิน 4,212 ล้านบาท โดยได้พิจารณาโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที และสามารถบรรเทาปัญหาน้ำได้ตรงตามเป้าหมายในยุทธศาสตร์น้ำ ซึ่งมีกรอบงบประมาณแผนงานบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2562 จำนวน 128,783 ล้านบาท โดยขณะนี้ สทนช. ร่วมกับ สำนักงบประมาณเร่งจัดลำดับความสำคัญแผนงานโครงการ และงบประมาณรายจ่ายแบบบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ด้านน้ำ ปี 2562
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า สทนช. จะต้องเร่งดำเนินการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านน้ำ ที่ขณะนี้มีเจ้าภาพกระจายในหลายหน่วยงาน โดยต้องการให้สามารถดึงข้อมูลมาใช้งานได้ทันที เพื่อเป็นฐานข้อมูล และสารสนเทศประกอบการตัดสินใจ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ

นอกจากนี้ สทนช. จะเพิ่มบทบาท เพื่อรองรับการเป็น Thailand 4.0 โดยการพัฒนาองค์ความรู้ เน้นการผสมผสานระหว่างศาสตร์พระราชา ภูมิปัญญาท้องถิ่น และองค์ความรู้สากล มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ รวมไปถึงการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติระดับภาค ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริงตรงตามเจตนารมณ์ที่ปรากฏในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ อีกทั้งยังจะดำเนินการผลักดันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ และน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า สทนช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินโครงการสำคัญ ๆ ให้เกิดขึ้นภายในปี 2562-2565 โดยจะกำหนดพื้นที่ Area Base ใน 6 ภูมิภาค รวม 44 พื้นที่ และวางแผนงาน เพื่อแก้ไขปัญหา และผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่

1. ภาคเหนือ พื้นที่ประสบปัญหาในภาคเหนือส่วนใหญ่ คือบริเวณแม่น้ำยม โครงการสำคัญปี 2561- 2562 คือ การพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำยมตอนล่าง เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และการบรรเทาอุทกภัยเมืองสุโขทัย ส่วนในระยะกลาง-ยาว จะพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ตอนล่าง ทำระบบป้องกันเมืองสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา แพร่ และการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เป็นต้น

2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่ต้นน้ำ และน้ำท่วมบริเวณลำน้ำมูล-ชี และจุดบรรจบแม่น้ำสงคราม โครงการสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนในปี 2561 - 2562 ได้แก่ การพัฒนาแหล่งเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำชี ทำระบบป้องกันน้ำท่วมในลำน้ำชี ควบคู่กับการผันน้ำเลี่ยงเมืองชัยภูมิ การทำประตูระบายน้ำ(ปตร.)เก็บกักน้ำในลำน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขง ได้แก่ ปตร.ศรีสองรัก ขณะเดียวกันต้องศึกษาหาแนวทางแก้ไขอุทกภัยบริเวณจุดบรรจบลำน้ำที่สำคัญ
sntc1

ส่วนในระยะกลาง-ยาว จะดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ ระบบผันน้ำเลี่ยงเมืองในพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบผนังป้องกันน้ำล้นตลิ่ง การเติมลงใต้ดิน และการผันน้ำเพื่อเชื่อมโยงระหว่างลุ่มน้ำ

3. ภาคกลาง แผนงานสำคัญปี2561- 2562 ได้แก่ โครงการที่สอดคล้องกับแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยา เช่น การปรับปรุงคันกั้นน้ำ ขุดร่องน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน ปตร.บางบาล และปรับปรุงโครงข่ายคลองระพีพัฒน์ ส่วนในระยะกลาง-ยาว จะดำเนินการแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาทั้ง 9 แผนงานให้เต็มรูปแบบ

4. ภาคตะวันออก เป็นภูมิภาคที่มีกลุ่มการใช้น้ำและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แตกต่างกัน มีทั้ง ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ภาคเกษตรใน จ.จันทบุรี และตราด รวมทั้งแหล่งต้นน้ำสำคัญใน เขต จ.นครนายก ปราจีนบุรี โดยในปี 2561 - 2562 เน้นการเพิ่มความจุอ่างฯเดิม
ควบคู่กับการสำรวจบ่อบาดาล รองรับ EEC ขณะที่พื้นที่บริเวณแม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำปราจีนบุรี ต้องเร่งทำระบบป้องกันน้ำท่วม ส่วนในระยะกลาง-ยาว จะพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำข้างเคียงจากพื้นที่ EEC โดยเฉพาะบริเวณชายขอบผืนป่าด้านบน ควบคู่กับการผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำ และการเติมน้ำใต้ดิน

5. ภาคใต้ และ6.ภาคใต้ชายแดน การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อตัดยอดน้ำทำได้ยาก อ่างฯส่วนใหญ่จึงเป็นขนาดเล็ก-กลาง อยู่บริเวณเทือกเขาตอนกลางของภาค เพื่อตัดยอดน้ำไม่ให้กระทบต่อชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และแหล่งท่องเที่ยว ส่วนด้านล่างทั้งสองฝั่งจะมีการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น การสร้างอ่างฯวังหีบ อ่างฯคลองสังข์ เป็นต้น ควบคู่กับระบบระบายน้ำ-ผันน้ำ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจและรับฟัง ความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มข้น สำหรับแผนใน ระยะกลาง-ยาว จะวางแผนเพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ราบตอนล่าง

เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2557-2560 ปรากฏว่า ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค สามารถ พัฒนาระบบประปาหมู่บ้าน 7,234 หมู่บ้าน ประมาณ2 ล้านครัวเรือน ประปาโรงเรียน/ ชุมชน 1,964 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำ 58 ล้าน ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 2,358 ล้าน ลบ.ม. เป็นการ พัฒนาแหล่งน้ำในเขตชลประทาน 1,418 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.78 ล้านไร่ พัฒนาแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน 624 ล้าน ลบ.ม. ขุดสระน้ำในไร่นา 166 ล้าน ลบ.ม. และน้ำบาดาล เพื่อการเกษตร 150 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย สามารถ ขุดลอกลำน้ำสายหลักและสาขามีความยาว 291.62 กิโลเมตร(กม.) ปริมาณดิน 13.14 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินมาตรการป้องกันน้ำท่วมชุมชนได้ 63 แห่งมีพื้นที่ 178,300 ไร่ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ สามารถพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน 53 แห่ง

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การอนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน สามารถฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมได้ 331,570 ไร่ และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) น้ำ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. (วาระ 2) จัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2550 และจัดตั้ง สทนช. ตามคำสั่ง คสช. ที่ 46/60 และ 2/61 เรียบร้อยแล้ว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว