บอร์ด EEC คุมเบ็ดเสร็จ! เปิดร่างกฎหมายใหม่ เข้มถมทะเล-รื้อ EIA

08 ก.พ. 2561 | 10:58 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

1748

เปิด “ร่างกฎหมายอีอีซี” ให้อำนาจเลขาธิการอนุญาต อนุมัติเบ็ดเสร็จเปิดทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-ระบบสาธารณูปโภคสู่จังหวัดใกล้เคียง คุมเข้มการ “ถมทะเล” ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเดินเรือ แก้วิธีจัดทำ “อีไอเอ” จากวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นประเมินผล

โค้งสุดท้ายการผลักดันร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) พ.ศ. ... ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาวาระ 3 อยู่ระหว่างปรับ-แก้ไขบางมาตรา พิจารณาบทบาทและอำนาจในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการเร่งการลงทุนใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่

 

[caption id="attachment_185046" align="aligncenter" width="503"] ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ กรรการวิจัยและพัฒนาฯ และประธานอนุกรรมการฯ ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์[/caption]

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อีอีซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ กมธ. มีการปรับแก้ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบและการออกใบอนุญาตจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หรือ วัน สต็อป เซอร์วิส

รายงานข่าวจาก สนช. เปิดเผยว่า ในหมวด 1 บททั่วไป ได้เพิ่มเติมข้อความในมาตรา 6 (5) วรรค 1 เกี่ยวกับพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตพัฒนาอีอีซี จากเดิมที่กำหนดไว้ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แก้ไขเป็นในกรณีที่มีความจำเป็นในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ให้สามารถออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้พื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อกับพื้นที่ 3 จังหวัด เป็นเขตอีอีซีได้

มาตรา 8 ปรับแก้ข้อความที่กำหนดให้การดำเนินโครงการภายในอีอีซี ต้องจัดทำรายงาน “การวิเคราะห์” ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เป็นการทำรายงาน “การประเมิน” ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนแทน และให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ได้รับรายงานที่ถูกต้องและมีข้อมูลครบถ้วน


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

ที่สำคัญในร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ยังกำหนดให้สำนักงานอีอีซีจัดทำภาพรวมและนโยบายการพัฒนาอีอีซี แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แผนการดำเนินงาน และแผนการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร โดยยึดหลักการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ตามหลักการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการประกอบธุรกิจและสิทธิตามกฎหมาย

ส่วนการจัดทำผังเมืองในร่างกฎหมายมาตรา 30 กำหนดให้สำนักงานอีอีซีร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จัดทำรายละเอียดของแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคให้เสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการนโยบายอีอีซี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ความเห็นชอบ พร้อมเพิ่มข้อความเกี่ยวกับระบบแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ต้องคำนึงถึงอีก 2 ด้าน คือ ระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม และระบบบริหารจัดการน้ำ จากเดิมกำหนดไว้ 6 ด้าน คือ 1.ระบบสาธารณูปโภค 2.ระบบคมนาคมขนส่ง 3.ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4.ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการประกอบกิจการ 5.ระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ และ 6.ระบบป้องกันอุบัติเหตุ

ขณะที่ มาตรา 31 ปรับแก้จากเดิมที่บัญญัติว่า ในระหว่างการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองมาบังคับใช้ เป็นให้ดำเนินการตามหลักวิชาการผังเมืองแทน นอกจากนี้ กมธ. ยังได้ปรับแก้อำนาจสำนักงานอีอีซีเกี่ยวกับอำนาจการได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ในมาตรา 34 ให้ทำได้เฉพาะการจัดซื้อ เช่า เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืน เท่านั้น โดยตัดการถมทะเล ที่เดิมบัญญัติว่า ให้ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยและกฎหมายว่าด้วยการประมง ออกไป


TP2-3338-A

บอร์ดคุมเบ็ดเสร็จ
ขณะที่ มาตรา 37 ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายอีอีซีมีอำนาจอนุมัติ อนุญาตให้สิทธิสัมปทาน โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จากเดิมที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย 7 ด้าน เหลือ 6 ด้าน คือ 1.ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของกระทรวงการคลัง 2.กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย 3.กฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวง 4.กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน 5.กฎหมายว่าด้วยทางหลวงสัมปทาน 6.กฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ โดยตัดข้อความใน (7) กฎหมายว่าด้วยการอื่นใดตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาออก

ส่วนมาตรา 39 เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะส่งเสริม 10 อุตสาหกรรม กมธ. ปรับแก้เพียงเล็กน้อย ใน 10 ข้อ จากเดิมที่บัญญัติว่า การแพทย์ครบวงจรเป็นการแพทย์และสุขภาพครบวงจร พร้อมเพิ่มข้อความในวรรค 3 ให้นำหลักการออกแบบที่เป็นสากลและการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกมาประกอบการพิจารณาส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย

อีกมาตราที่สำคัญ คือ มาตรา 43 ที่ให้อำนาจเลขาธิการอีอีซีในการอนุมัติอนุญาตออกใบอนุญาต หรือเป็นผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนตามกฎหมาย 9 ด้าน เหลือ 8 ด้าน คือ 1.กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน 2.กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 3.กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร 4.กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข 5.กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เฉพาะเพื่อการอนุญาตให้คนต่างด้าว ตามมาตรา 54 (1) หรือ (2) อยู่ต่อในราชอาณาจักร 6.กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ 7.กฎหมายว่าด้วยโรงงาน 8.กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และ 9.กฎหมายว่าด้วยการอื่นใดตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาในมาตรานี้ กมธ. ตัดข้อความในข้อออกทั้งหมด


EEc26

นอกจากนี้ กมธ. ยังได้เพิ่มมาตรา 59/1 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอากาศยาน ให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในอุตสาหกรรมผลิตอากาศยานได้มากกว่า 50%

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวถึง พ.ร.บ.อีอีซี ที่ล่าช้า ว่า ติดปัญหาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) รวมถึงการให้อำนาจพิเศษเบ็ดเสร็จ ที่ถูกจับตามองว่า จะเป็นใคร โปร่งใสหรือมีเรื่องผลประโยชน์ของชาติมาเกี่ยวข้องหรือไม่

ขณะที่ นายอิทธิ แจ่มแจ้ง ประธานชุมชนบ้านหนองแฟบ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่มีความกังวลในแง่การเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทั้ง EIA และการมีส่วนร่วมในเรื่องผังเมือง จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในรูปของคณะกรรมการไตรภาคีในพื้นที่


………………..
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,338 วันที่ 8-10 ก.พ. 2561 หน้า 01-02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว