เฟดป่วนโลกฉุดหุ้นไทยพักฐานยาว

07 ก.พ. 2561 | 07:03 น.
ตัวเลขการจ้างงานภาคเกษตรสหรัฐฯที่ดีกว่าคาด ส่งผลให้กังวลว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด เกิดแรงเทขายหุ้นครั้งใหญ่ สะเทือนทั้งหุ้นไทยและเอเชีย นักวิเคราะห์แนะ รอจังหวะ เป็นช่วงปรับฐานยาว

ดัชนีดาวโจนส์ที่ทรุดตัวลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1,100 จุด จากความกังวลมากขึ้นว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นเอเชียมีปรับตัวในทิศทางเดียวกัน รวมถึงตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ก็เช่นกัน ดัชนีลดลง 34.90 จุดทันทีที่เปิดการซื้อขาย และทรุดตัวลงไปตํ่าสุดถึง 50 จุดตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก ก่อนจะมีแรงซื้อเข้าในช่วงบ่าย

นายสตีเว่น วีทติ้ง หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนตลาดโลก บริษัท ซิตี้กรุ๊ป อิงค์ ให้ความเห็นว่า ตลาดยังจะคงอยู่ในสภาพเปราะบางไปอีกระยะหนึ่ง ความปั่นป่วนครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาไม่กี่วันเท่านั้น เพราะเดือนมกราคมหุ้นทั่วโลกเพิ่งขยับขึ้นทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ท่ามกลางข่าวเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นและแนวโน้มการทำกำไรเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า การลดลงของราคาหุ้นช่วงนี้เป็นการปรับสมดุล เพื่อเข้าสู่ระดับปกติและเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น

[caption id="attachment_170966" align="aligncenter" width="382"] ดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ซิตี้แบงก์ ดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ซิตี้แบงก์[/caption]

นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทยเปิดเผยว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลงหนัก เป็นผลจากการปรับฐานของราคา หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน ถือเป็นปัจจัยชั่วคราวที่เกิดขึ้นระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากวิกฤติ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดในระยะยาว ที่ตลาดได้ปรับลดลงมาบ้าง

“นักลงทุนควรมองระยะยาว โดยดูที่พื้นฐานเศรษฐกิจ เป็นหลัก เพราะจะเห็นว่า การเติบโตของกลุ่มบริษัทยังคงดีอยู่ เรามองว่า อัตราผลกำไรของทั่วโลกปีนี้ ยังเติบโตได้ 9% และหากเป็นตลาดเกิดใหม่อยู่ที่ 11% ดังนั้น การลงทุนควรเป็นแบบกระจายพอร์ต เพราะในระยะยาว หากตลาดปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น อาจทำให้เกิดความผันผวนตามมาด้วยเช่นกัน”

[caption id="attachment_173952" align="aligncenter" width="480"] นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย ) นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย )[/caption]

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส่วนตัวมองตรงข้ามกับที่ตลาดกังวลว่า เฟดอาจจะปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าที่กำหนด จากสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่ง จึงเกิดแรงเทขายทำกำไรจากตลาด พันธบัตร หลังมีแนวโน้มว่า yield พันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี จะแตะ 3% และเงินเฟ้อใกล้ 2% และไม่คิดว่า การที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้เงินทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยไหลออกด้วย

“ผมมองว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วเกินไป จะยิ่งซํ้าเติมเศรษฐกิจสหรัฐฯเอง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯใน 2 ปีนี้แค่ฟื้นตัว ไม่ใช่เติบโตอย่างยั่งยืนหรือแบบก้าวกระโดด” นายปริญญ์กล่าว

[caption id="attachment_157626" align="aligncenter" width="503"] ชยนนท์ รักกาญจนันท์ กรรมการบริหาร บลน.อินฟินิติ จก. ชยนนท์ รักกาญจนันท์ กรรมการบริหาร บลน.อินฟินิติ จก.[/caption]

ด้านนายชยนนท์ รักกาญจนนันท์ กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนอินฟินิติ จำกัดกล่าวว่า หุ้นไทยอาจปรับลงต่อเนื่องในอีก 2-3 สัปดาห์ เพราะเกิดแรงตื่นตระหนก(Panic sell) จากการปรับฐานของตลาดหุ้นโลก แม้พื้นฐานเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มกำไรของบจ.ยังดี แต่ไม่แนะนำให้ลงทุน เพราะ 2-3 สัปดาห์จากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจปรับลดและตลาดหุ้นไทยจะปรับลงตาม นักลงทุนควรดูเป็นพอร์ตหรือล็อกกำไรไว้ก่อน

[caption id="attachment_118065" align="aligncenter" width="416"] จิติพล พฤกษาเมธานันท์ จิติพล พฤกษาเมธานันท์[/caption]

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน Global Markets ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า แนะนำให้นักลงทุน “รอจังหวะ” เพราะยังไม่เห็นจุดสตาร์ตใหม่ หากมีการปรับฐาน เพราะถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จะกดดันตลาดทุนอีกรอบ ขณะนี้ถือว่า สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว เป็นช่วงตลาดปรับสู่สมดุล หลังจากปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยให้รอดูตัวเลขผลประกอบการบจ.ไตรมาส 1 และต้องดูผลหลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วย ซึ่งภาพจะเห็นชัดขึ้น

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดหุ้นไทย ใกล้รีบาวด์ขึ้นใน 1-2 วันนี้ เนื่องจากได้ดูดซับความกังวลและมีสัญญาณคลี่คลายในทิศทางดีขึ้น สะท้อนจากพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี ที่กังวลกันว่า จะแตะใกล้ 3% จากที่พีก 2.85% เริ่มปรับลงมาที่ 2.7%, จากดัชนี VIX index ที่ปรับขึ้นพีก 38.8 ได้ลงมาอยู่ที่ 37 แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,338 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว