ฟิลิปปินส์ทุ่ม3หมื่นล้าน ตั้งเมืองใหม่ศูนย์ราชการ

10 ก.พ. 2561 | 03:07 น.
ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชียที่กำลังเดินหน้าลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ามหาศาลหลายโครงการในปีนี้ และหนึ่งในนั้นคือโครงการพัฒนา “นิว คลาร์ก ซิตี” อดีตพื้นที่ฐานทัพอากาศสหรัฐฯในฟิลิปปินส์ที่ปิดตัวไปในปี 2534 ให้กลายเป็นเมืองใหม่ของศูนย์ราชการ ที่กำลังทยอยย้ายออกจากเมืองหลวง “มะนิลา” หนีปัญหาการจราจรที่เข้าขั้นวิกฤติ

[caption id="attachment_256924" align="aligncenter" width="503"] ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต[/caption]

“มะนิลากำลังจะกลายเป็นเมืองที่ตายแล้ว (dead city) ภายใน 25 ปีข้างหน้า” นั่นเป็นคำกล่าวของนายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน เขามีแผนโยกย้ายหน่วยปฏิบัติการของหน่วยงานภาครัฐออกจากเขตเมืองหลวงมะนิลา ที่มีจำนวนประชากรถึง 13 ล้านคนและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ครองสัดส่วนรายได้ 1 ใน 3 ของจีดีพีรวมทั้งประเทศ แต่จากความหนาแน่นของประชากรนำไปสู่ความแน่นขนัดของการจราจรที่ติดขัดมากขึ้นเรื่อยๆ เข้าขั้นวิกฤติ ทำให้ผู้นำฟิลิปปินส์ตัดสินใจย้ายศูนย์ราชการออกจากเขตเมืองหลวง พร้อมผุดโครงการเปลี่ยนอดีตฐานทัพอากาศเป็นเมืองใหม่

จากผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ในปี 2557 พบว่า ปัญหาการจราจรติดขัดนำความสูญเสียทางเศรษฐกิจมาสู่ฟิลิปปินส์ถึงวันละประมาณ 2,500 ล้านเปโซ และตัวเลขความสูญเสียดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 6,000 ล้านเปโซภายในปี 2573 ทั้งนี้ ประชากรราว 1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมืองมะนิลาเป็นผู้ที่ทำงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นการย้ายศูนย์ราชการออกนอกเขตเมืองหลวงจึงดูจะเป็นทางออกที่ดี

[caption id="attachment_256921" align="aligncenter" width="503"] อาคารกระทรวงคมนาคมหลังใหม่ของฟิลิปปินส์ในเมืองนิว คลาร์ก ซิตี อาคารกระทรวงคมนาคมหลังใหม่ของฟิลิปปินส์ในเมืองนิว คลาร์ก ซิตี[/caption]

โครงการลงทุนสร้างศูนย์ราชการใหม่ในเมืองนิว คลาร์ก ซิตี (ซึ่งตั้งชื่อตามอดีตฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ) เป็นโครงการที่มีเงินลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ลงทุนมาแล้วมากกว่า 50,000 ล้านเปโซ หรือราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 32,000 ล้านบาท) ภายในเวลา 5 ปี ที่นี่จะมีอาคารศูนย์ราชการความสูงปานกลางอย่างน้อย 8 อาคารด้วยกัน และมีบ้านพักอาศัยสร้างใหม่ 8,000 หน่วย และจะมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ 1 สายมาเชื่อมเข้ากับเมืองมะนิลา ซึ่งอยู่ห่างกันราว 100 กิโลเมตร ขณะนี้เริ่มมีการทยอยโยกย้ายหน่วยงานราชการบางส่วนไปแล้ว เช่น กระทรวงคมนาคมที่ย้ายไปเมืองใหม่ตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา บางหน่วยงานจะย้ายตามมาในปีนี้ ซึ่งรวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาฐานทัพอากาศเก่า (BCDA)

ad-bkk

นายวินซ์ ดิซอน ประธาน BCDA กลไกภาครัฐที่ดูแลการพัฒนาบนพื้นที่ 9,450 เฮกตาร์ (กว่า 59,000 ไร่) ที่อดีตเคยเป็นฐานทัพอากาศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จะทยอยย้ายหน่วยงานราชการบางส่วนเข้าไปเพื่อกระตุ้นความคึกคักและปลุกเศรษฐกิจในพื้นที่ เฟสแรก 200 เฮกตาร์ (1,250 ไร่) จะเป็นที่ตั้งของหน่วยงานด้านธุรการของภาครัฐ รวมถึงศูนย์การกีฬาทางนํ้าและกรีฑาที่จะใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์จะเป็นเจ้าภาพช่วงปลายปีหน้า (2562) ส่วนการขยายท่าอากาศยานคลาร์กมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 คาดว่าจะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 12 ล้านคน และเพิ่มเที่ยวบินภายในประเทศได้เป็น 2 เท่า จากปัจจุบันที่บินสัปดาห์ละประมาณ 240 เที่ยวบิน ภายใน 2 ปีนี้จะมีการลงทุนอย่างน้อย 12,000 ล้านเปโซ เพื่อสร้างสะพานและตัดถนน ส่วนนิคมอุตสาหกรรมอีก 1 แห่งจะก่อสร้างโดยบริษัท ฟิลินเวสต์ แลนด์ฯ คาดว่าเงินลงทุนขั้นต้นอย่างน้อย 10,000 ล้านเปโซ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,338 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว