47 จังหวัดเสี่ยงแล้ง 3.8 ล้านไร่ อีสานหนักสุด-ชาวนาห่วงพ่อค้าทุบราคาข้าว

10 ก.พ. 2561 | 15:45 น.
ก.เกษตรฯ เปิดพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ปี 60/61 กว่า 47 จังหวัดรวม 3.8 ล้านไร่ อีสานหนักสุด สั่งเฝ้าระวัง 2 จังหวัดใหญ่ นครราชสีมา-เพชรบุรี นํ้าไม่พอ ด้านนายกสมาคมชาวนาฯห่วงผลผลิตข้าวมะลินาปรังพุ่ง เข้าทางพ่อค้าทุบราคาดิ่ง
การคาดการณ์ภัยแล้งล่วงหน้าในพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อใช้ในการจัดทำแผนรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ถือเป็นการเตือนภัยให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการเพาะปลูกพืชในพื้นที่นั้นๆ

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณฝนและปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้า พบว่าในปี 2560 ปริมาณฝนและปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าอยู่ในเกณฑ์ดี และมีปริมาณมากกว่าปี 2559 และจากการคาดการณ์พื้นที่เกษตรที่มีโอกาสเกิดความแห้งแล้งในช่วงปี 2560/2561 พบว่าสถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มที่ไม่รุนแรง แต่ยังคงมีบางพื้นที่ที่อาจจะประสบภัยแล้งได้ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรที่อาศัยนํ้าฝนเป็นหลักซึ่งมีปริมาณนํ้าไม่เพียงพอต่อการทำนาปรัง และอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชอายุยาว เช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้น เป็นต้น ซึ่งจากการคาดการณ์พื้นที่เกษตรที่มีโอกาสเกิดความแห้งแล้งในปีนี้ รวม 47 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่ 3.8 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อนที่มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 4.41 ล้านไร่

TP8-3338-A โดยภาคเหนือ คาดปีนี้จะมีพื้นที่เกษตรประสบความแห้งแล้ง ใน 16 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบุรี แพร่ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี คิดเป็นพื้นที่ 3.7 แสนไร่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่เกษตรที่จะประสบความแห้งแล้งใน 14 จังหวัด ได้แก่ เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 2.42 ล้านไร่ ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี กาญจนบุรี นครนายก ประจวบ คีรีขันธ์ ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี และสุพรรณบุรี คิดเป็นพื้นที่ 5.96 แสนไร่

ส่วนภาคตะวันออก คาดการณ์พื้นที่เกษตรจะประสบความแห้งแล้งใน 6 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว รวม 3.61 แสนไร่ ส่วนภาคใต้ พื้นที่เกษตรจะสบประสบความแห้งแล้ง 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี คิดเป็นพื้นที่ 7.2 หมื่นไร่ (ดูกราฟิกประกอบ)

“อย่างไรก็ตามจังหวัดที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คาดว่าจะประสบความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตรเป็นบริเวณกว้างส่งผลให้มีนํ้าไม่เพียงพอต่อการทำนาปรังและพืชไร่ ทำให้พืชตายได้ และส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไม้ผล ไม้ยืนต้น ผลผลิตจะลดลงมากใน 2 จังหวัดได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา และเพชรบุรี”

ขณะที่นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ในฐานะคณะทำงานวางแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เผยว่าการที่รัฐมนตรีเกษตรฯออกมาให้ข่าวว่าชาวนาปลูกข้าวรอบที่ 1 เกินแผนจะไม่ส่งผลดีต่อราคาข้าว เพราะจะทำให้พ่อค้าและผู้ส่งออกกดราคาได้ อย่างไรก็ดีจากการลงพื้นที่ พบว่ามีชาวนาแห่ปลูกข้าวหอมมะลินาปรังทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางมาก เพราะราคาดีจูงใจ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งไม่ส่งผลดี เพราะข้าวไม่มีความหอม จะขายไม่ได้ราคา จึงอยากให้กระทรวงจัดทำแผนควบคุมไม่ให้ชาวนาปลูก

“ที่ประชุมคณะทำงานวางแผนการผลิตข้าวฯ( 2 ก.พ.61) ได้วางแผนความต้องการใช้ข้าวเพื่อการบริโภคปีนี้คงที่ 7.78 ล้านตันข้าวสารหรือ 11.97 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนความต้องการใช้ข้าวเพื่อการส่งออก 9.53 ล้านตันข้าวสาร หรือ 14.66 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนข้าวเพื่อบริโภคในสต๊อกรัฐบาลที่ขายไปหมดแล้ว ส่วนข้าวที่ผู้ส่งออกเห็นว่ามีศักยภาพส่งออกสูงสามารถแย่งชิงตลาดข้าวจากเวียดนามที่ปัจจุบันส่งออกข้าวนิ่มปีละ 2 ล้านตันได้ คือ ข้าว กข.21 และ กข.59 ซึ่งกรมการข้าวเสริมว่ายังมี กข.77 และเหลืองปะทิวด้วย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,338 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว