ล้มโรงไฟฟ้าถ่านหิน ลดแรงต้าน-หันพึ่งพลังงานทดแทน

10 ก.พ. 2561 | 04:26 น.
จากที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้เสนอข่าวนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดับฝันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาในพื้นที่ภาคใต้ โดยการยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และหันไปพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติแทน โดยอ้างเหตุผลการต่อต้านเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปจัดทำแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ใหม่ว่ายังมีความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักหรือไม่ รวมถึงมีความจำเป็นแล้วจะต้องใช้เชื้อเพลิงชนิดใด และนำมาเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตัดสินใจ

ขณะเดียวกันฝ่ายไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้มีการชุมนุมคัดค้านอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจที่จะชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่ง ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

++สั่งชะลอกระบี่-เทพา 3 ปี
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมายืนยันถึงการชะลอแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลากำลังการ ผลิตรวม 2 พันเมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จ.กระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ออกไปอีก 3 ปี โดยสั่งการให้กฟผ.กลับไปศึกษาความจำเป็นและความเหมาะสมพื้นที่ว่ายังมีความจำเป็นหรือไม่ พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจกับประชาชน

อย่างไรก็ตาม การจัดหาไฟฟ้าของภาคใต้ ยังมีความจำเป็น เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้ายังเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีเฉลี่ยปีละ 3.4-4 % โดยปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 2.6 -2.7 พันเมกะวัตต์ แต่ผลิตในพื้นที่เพียง 2 พันเมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือมาจากส่วนกลางเข้ามาเสริมในระบบ โดยเฉพาะพื้นที่เกาะสมุย ภูเก็ต และหาดใหญ่ ที่มีความต้องการใช้เติบโตขึ้นต่อเนื่อง จึงมีความน่าเป็นห่วงว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้า หากโครงการพัฒนาสายส่งไฟฟ้าล่าช้า จึงนับเป็นจุดเสี่ยงในอนาคต

TP8-3338-B ++ส่งไฟจากภาคกลางช่วย
ดังนั้น มาตรการที่จะเข้ามารองรับสถานการณ์ความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันก็จะบริหารจัดการในช่วง 3-5 ปี โดยเพิ่มสายส่งแรงดันสูงเชื่อมโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ คือโรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าขนอม กำลังการผลิตรวม 2.4 พันเมกะวัตต์ ตรงไปยังฝั่งอันดามันและเชื่อมกับสายส่งหลักจากภาคกลางไปยังสถานีสุราษฎร์ธานี จะช่วยแก้ไขปัญหาสายส่งที่มีปัญหาคอขวด ทำให้การใช้กำลังผลิตไม่เต็มที่ ดังนั้น หากโครงการขยายสายส่งจากภาคกลางไปยังภาคใต้สำเร็จในปี 2564 จะทำให้สามารถเพิ่มเป็น 1 พันเมกะวัตต์

++เล็งผุดโรงไฟฟ้าก๊าซแทน
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ ที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะเร่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินจะเป็นเพียงตัวเลือกในแผนพีดีพีฉบับใหม่เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนลงในแผนเหมือนกับพีดีพี 2015 เนื่องจากต้องการให้เกิดความยืดหยุ่นในการผลิตไฟฟ้า และไม่ต้องการกำหนดแบบตายตัวว่าจะต้องใช้เชื้อเพลิงใดในการผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ปัจจุบันราคานำเข้าไม่แพง และสามารถแข่งขันกับถ่านหินได้ รวมทั้งการจัดหาแอลเอ็นจียังสามารถจัดหาได้จากหลายพื้นที่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ ขณะเดียวกันหากต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะต้องสร้างในพื้นที่ใด

++พึ่งชีวมวล300เมกะวัตต์
นอกจากนี้ จากการศึกษาศักยภาพวัตถุดิบชีวมวลในพื้นที่ภาคใต้ สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 300 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าชีวมวลรวม 50 เมกะวัตต์ โดยจะส่งเสริมให้โครงการเป็นของชุมชน สำหรับการสร้างสายส่งเชื่อมจากโรงไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาป้อนแก่ภาคใต้ด้านบนนั้น ทางรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนไม่ใช่ กฟผ. ลงทุนเพื่อไม่เพิ่มเป็นภาระค่าไฟฟ้า ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการขายไฟฟ้า ภาคประชาชนจะได้ประโยชน์ทั้งการขายเชื้อเพลิง และการจ้างงาน โดยภาครัฐจะดูแลเรื่องความมั่นคงในการก่อสร้างควบคู่กันไป คาดแล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี อีกทั้ง ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการมาตรการดีมานด์ เรสปอน (DR) ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการ กกพ. แจ้งว่าอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการดังกล่าว คาดว่าจะอยู่ที่ 100-200 เมกะวัตต์

ad-bkk

++ชาวบ้านหนุนถ่านหิน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเครือข่ายพัฒนาเทพา ซึ่งประกอบด้วย 66 องค์กรในอำเภอเทพา มีตัวแทนกว่า 100 คน ยื่นหนังสือขอให้สนับสนุนและเร่งรัดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัจจุบันชาวเทพาซึ่งมี 119 ครัวเรือน หรือประมาณ 7 หมื่นคน ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีเพียง 10% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย

ดังนั้น ชาวเทพาไม่ต้องการให้ชะลอโครงการออกไป 3 ปี และไม่ต้องการให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และไม่ต้องการโรงไฟฟ้าก๊าซเข้ามาทดแทน จึงต้องการให้เดินหน้ารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะต้องถูกบรรจุในแผนพีดีพีฉบับใหม่ด้วย

นอกจากนี้ที่ผ่านมา กฟผ. ทำอีเอชไอเอ ไปแล้วเป็นระยะเวลา 4 ปี ใช้งบ 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีจากประชาชน ซึ่งชาวบ้านจะรอความชัดเจนจากทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นระยะเวลา 45 วัน หากยังไม่มีความชัดเจนออกมา จะมีการรวมตัวเพื่อชุมชนที่กระทรวงพลังงานต่อไป

จากการชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นการปิดฉากของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นในประเทศก็ว่าได้ เพราะนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องการให้เกิดการขัดแย้ง และหากจะรอรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง มาตัดสินใจเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก คงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องคำนึงฐานคะแนนเสียงเป็นหลัก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,338 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว