ผ่าแผน‘อุ้มคนจน’ปลดล็อกปัญหา-พัฒนารายพื้นที่

05 ก.พ. 2561 | 06:36 น.
เมื่อปัญหาความยากจน เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของรัฐบาล ด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่อย่างจำกัดนี้ จะมีการเร่งรัดมาตรการใดออกมา “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คีย์แมนด้านเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐบาลเกี่ยวกับแผนงานและมาตรการเร่งด่วน รวมถึงการจัดสรรงบ ของรัฐบาลช่วง 1 ปีนี้ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน

ดร.กอบศักดิ์ ระบุว่าปลาย ปีที่แล้วรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญดูแลเศรษฐกิจฐานรากและความเป็นอยู่ของประชาชน นับตั้งแต่ต้นปี 2561 ท่านนายกฯได้ลงพื้นที่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และแม่ฮ่องสอน และต้นเดือนนี้เตรียมลงพื้นที่จังหวัดตราดและจันทบุรี

ช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการร่วมกับทีมท่านนายกฯ คัดเลือกจังหวัดที่ลำบากที่สุดในประเทศไทยเพื่อให้ท่านไปเยี่ยมเยือน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภาคอีสาน กับ เหนือ โดยเป้าหมายต่อไป คือ น่าน บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และ หนองบัวลำภู เป็นต้น แต่ก็จะให้ท่านนายกฯ ไปภาคใต้และภาคกลางด้วย ตั้งเป้าลงพื้นที่เดือนละจังหวัด

[caption id="attachment_256338" align="aligncenter" width="335"]  ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[/caption]

สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาความยากจน คือ ต้องรู้สาเหตุและปัญหาที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้เพื่อปลดโซ่ที่กำกับเขาเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องไปดูด้วยว่า สิ่งใดที่เป็นศักยภาพของเขาที่จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น การลงพื้นที่ทุกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีจึงให้ความสำคัญเข้าไปช่วยปลดล็อกปัญหาของพื้นที่แต่ละจังหวัดที่มีแตกต่างกัน

ดังเช่นที่ กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดในอีสาน และเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวเป็นลำดับที่ 75 ของประเทศ แม้ที่นี่จะมีเขื่อนลำปาวใหญ่ติดอันดับในอีสาน 14 อำเภอ ท้ายเขื่อนมีนํ้าอยู่ได้ แต่ในอีก 14 อำเภอเหนือเขื่อนแห้งแล้ง จึงต้องเข้าไปจัดการเรื่องนํ้าให้ชาวบ้าน ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายโครงการที่ลงไปดำเนินการให้ ส่วนที่แม่ฮ่องสอนนั้นกลับเป็นเรื่องอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนป่า ซึ่งเป็นปัญหามานาน เนื่องจากอยู่มาก่อนมีการประกาศพื้นที่ป่า ทำให้ถูกดำเนินคดี ถูกจับ อยู่ด้วยความไม่สบายใจ เมื่อคราวที่ท่านนายกฯ ลงพื้นที่ก็ได้ปลดล็อกเรื่องนี้ ให้สิทธิกับประชาชนอยู่กับป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะเดียวกันก็ไปดูด้วยว่าในพื้นที่เหล่านั้นมีศักยภาพที่จะสร้างรายได้ใหม่ให้ ซึ่งที่ แม่ฮ่องสอนนั้นมีศักยภาพเรื่องการท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันยังไม่มีสายการบินไปลงจึงเป็นที่มาของการหารือร่วมกันกับกลุ่มบริษัทการบินไทยฯที่จะให้มีเครื่องบิน ตรงจากกรุงเทพฯ-แม่ฮ่องสอน สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ส่วนที่กาฬสินธุ์นั้นมีความโดดเด่นเรื่องของ อาหาร อาทิ กุ้งก้ามกราม มะม่วงสีทอง ไส้กรอกปลา เป็นต้น เบื้องต้นได้ติดต่อให้ไปรษณีย์ไทยไปช่วยดำเนินการแล้วบางส่วน

เป็นที่มาของคำว่า “กาฬสินธุ์โมเดล” และ “แม่-ฮ่องสอนโมเดล” ของท่านนายกฯ ที่กำชับเร่งรัดให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะหากรัฐบาลมุ่งทำให้กาฬสินธุ์ขยับขึ้นมาจากลำดับที่ 75 เป็น 50 หรือมาอยู่ลำดับที่ 45 ของประเทศได้ จังหวัดอื่นๆ ก็จะมีแรงบันดาลใจ แสดงว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว จังหวัดลำดับถัดไปก็จะต้องรวยบ้าง ทุกคนก็จะออกจากปัญหาที่เราจมปลักอยู่

ในปีนี้ท่านนายกฯ ยังได้สั่งการให้ดำเนิน “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” ซึ่งเป็นการบูรณาการงานหน่วยงานของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความยากจนทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยจัดสรรงบไว้ประมาณแสนล้านบาทซึ่งปกติงบประมาณสำหรับสวัสดิการจะอยู่ที่ประมาณ 6 แสนล้านบาท ครอบคลุมสวัสดิการตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ซึ่งตั้งใจว่าจะนำงบประมาณส่วนนี้มาปรับให้ดีขึ้น ให้มีระบบมากขึ้น

อีกข้างหนึ่งเป็นงบประ มาณเพื่อลดความเหลื่อมลํ้าที่มีอยู่กว่า 3 แสนล้านบาท ก็กำลังจัดสรรงบประมาณส่วนนี้เช่นเดียวกัน โดยจะออกมาแต่ละช่วงในแต่ละปี สำหรับงบประมาณ ปี 2561-2562 จะออกประมาณ เดือนตุลาคม กำลังดูว่าจะจัด สรรงบส่วนนี้ได้อย่างไร

728x90-03 นอกจากนี้กำลังคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะให้มีการจัดงบวิจัยที่ตอบโจทย์พี่น้องประชาชนได้ด้วย คิดว่าเราน่าจะนำงบประมาณเหล่านี้มาทำงานวิจัยดีๆ เช่น งบวิจัยเพื่อดูแลผลิต ผลยางพารา ให้ได้ประโยชน์ เช่น งบวิจัยทำหมอนยางที่เหมาะสมสำหรับคนนอนกรน เป็นต้น

“ปีนี้ความตั้งใจของท่านนายกฯ และครม.จะทำเรื่องเหล่านี้ รัฐบาลจะระดมสรรพกำลังเพื่อตอบโจทย์พี่น้อง ประชาชน จะมีมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยกันทำเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความสุขมากยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้นับตั้งแต่รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนมาได้ระยะหนึ่ง ตัวชี้วัดความสำเร็จสำคัญที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ กรณีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้ดำเนินการไปก่อนนี้จำนวน 11.4 ล้านคน เข้าไปช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการมาต่อ เนื่องจนถึงรอบที่ 2 แล้ว ต่อไปก็จะมีโครงการอื่นๆ ออกมาอีก

“1 ปีนี้ เป็นเวลาที่ไม่นานและก็ไม่เร็วเกินไป สำหรับความยากจน ความเหลื่อมลํ้าซึ่งเป็นปัญหาสะสมมาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว แต่เชื่อว่า 1 ปีที่เหลืออยู่นี้น่าจะทำได้หลายๆ อย่าง อย่างน้อยผมคิดว่า น่าจะมีคำตอบให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์และแม่ฮ่องสอนว่า เราจะยก ระดับชีวิตของเขาได้อย่างไร ขณะที่การปูพรมทั้งประเทศที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะมีส่วนที่เราทำให้ตอบโจทย์พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้พอสมควร ซึ่งจะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“อยากบอกว่า อย่าเพิ่งใจร้อน เรามาถึงจุดนี้ได้ เราสะสมมาหลายสิบปี ต้องค่อยๆ ทยอยทำให้ดีที่สุดในปีนี้ ซึ่งผมมั่นใจ เพราะว่าท่านนายกฯให้ความสำคัญกับพี่น้องฐานรากและพยายามที่จะเอามาตรการต่างๆ ลงไป และขับเคลื่อนตลอดเวลาซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศอย่างยิ่งในปีนี้”

++เร่งดันกฎหมาย3ฉบับช่วยฐานราก
ดร.กอบศักดิ์ เปิดเผยว่า ใน 1-2 เดือนข้างหน้ารัฐบาลจะมีกฎหมายออกมาอีกหลาย ฉบับเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนและช่วยให้ประชาชน ระเบิดจากภายในได้

1.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิสาหกิจชุมชน เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนมีสถานะเป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นข้อจำกัด ของวิสาหกิจชุมชนในช่วงที่ผ่านมา และผลจากการศึกษาพบว่า สินค้าเกษตร 100 บาท ชาวบ้านได้ 2 บาท แต่หากมารวมกลุ่มกันแปรรูปขั้นต้นชาวบ้านจะได้ 5 บาท และถ้าสามารถดำเนินการเองต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่ถึงขั้นสุดท้าย เช่น ตาก คั่ว ทำแพ็กเกจจิ้ง มีแบรนด์และขายเอง จาก 100 บาท อาจได้ถึง 10 บาทได้ ควบคู่ไปกับการแก้พ.ร.บ.สสว.ให้เข้าไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนร่วมด้วย

2. พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งและยกระดับสถาบันการเงินชุมชนให้มีมาตรฐาน มีสถานะความเป็นนิติบุคคลให้สามารถออกกฎเกณฑ์ กำหนดเงื่อนไขตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกอย่างที่สถาบันการเงินอื่นทำไม่ได้ อาทิ คุณสมบัติของผู้ที่จะกู้ยืมไม่ต้องใช้เครดิตบูโร ไม่ต้องมีบัญชีเงินเดือน เป็นต้น ตั้งเป้าว่า จะมีสถาบันการเงินระดับตำบลประมาณ 7,000 สาขาทั่วประเทศ ให้ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินเป็นพี่เลี้ยงโดยรัฐบาลส่งเสริมให้ได้รับความเป็นนิติบุคคล

3. พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อ สังคม เพื่อให้สามารถทำธุรกิจไปพร้อมกับการพัฒนาสังคม เป็นกฎหมายอีกฉบับที่ผลักดันมา 3 ปีแล้ว ล่าสุดท่านนายกฯ และท่านรองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สั่งการว่า ภายใน 1 เดือนนี้จะต้องออกกฎหมายฉบับนี้ออกมาให้ได้ สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นจะทำธุรกิจเพื่อเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดได้ไปพร้อมกับการคืนกำไรให้กับสังคม 70% ต้องลงทุนใหม่ 30% ไว้ปันผล ถ้าหากเป็นเงินมาจากกองทุนก็ต้องคืนให้กับกองทุนเพื่อเป็นทุนสำหรับคนต่อไป

“พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับนี้เป็นเพียงนํ้าจิ้มเท่านั้น หลังจากนี้จะมีออกมาอีกเยอะ เช่น พ.ร.บ.องค์กรกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์เครดิตยูเนียน และพ.ร.บ.ขายฝาก เป็นต้น รวมถึงการปฏิรูป เรื่องป่าชุมชน ซึ่งปีนี้รัฐบาลมีความตั้งใจจะนำงานปฏิรูปต่างๆ ที่เตรียมไว้ใน 3 ปีที่ผ่านมาออกมาขับเคลื่อนให้เป็นผลงานที่แท้จริงให้พี่น้องประชาชน เชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยเป็นจุดเปลี่ยนของประชาชน นี่คือการปฏิรูปที่ประชาชนรอคอยอยู่”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,337 วันที่ 4 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9