มิตซูบิชิ ขอกอดแชร์ 2 หลักภายใน 5 ปี

06 ก.พ. 2561 | 23:00 น.
ประกาศผลการดำเนินงานปี 2560 อย่างสวย งามสำหรับค่ายมิตซูบิชิ ด้วยยอด 69,737 คัน เติบโต 26% ครองส่วนแบ่งการตลาด 8% โดยมีรถอย่าง ไทรทัน ที่โกยยอดขาย 32,450 คัน เติบโต 38% ส่วนกลุ่มรถเก๋งที่มีอีโคคาร์ 2 รุ่นอย่างมิราจและแอททราจเป็นหัวหอกก็ทำยอดขายรวม 22,833 คัน เติบโต 42% อย่างไรก็ดีมีโมเดลที่ยอดขายหดคือปาเจโร สปอร์ต 14,454 คัน ลดลง 7%

ขณะที่เป้าหมายในปี 2561 ก็ได้วาดฝันว่าส่วนแบ่งการตลาดต้องมากกว่า 8% และภายใน 4-5ปี หลังจากนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งกลยุทธ์ที่จะช่วยผลักและดันให้ถึงเป้าที่วางไว้จะประกอบไปด้วยอะไรนั้น นายใหญ่อย่าง “โมะริคาซุ ชกกิ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศ ไทย) จำกัด จะมาบอกกล่าว

++ผลงานในปี 2560
ปีที่ผ่านมาถือเป็นการครบรอบ 100 ปีมิตซูบิชิ และผลงานในประเทศไทยถือว่าดี เพราะมีการปรับปรุงรถ 6 รุ่นสู่ตลาด, มีกิจกรรมการตลาด อาทิ โรดโชว์, การจัดกิจกรรมที่โชว์รูม, มีเดีย เทสต์ไดร์ฟ , การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าด้วยการพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์ อาทิ ปรับปรุงโชว์รูมและศูนย์บริการ ส่วนซอฟต์แวร์ มีการพัฒนาตัวแทนจำหน่ายทั้งก่อนและหลังการขาย

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 ++กลยุทธ์ในปี 2561
มิตซูบิชิยังคงโฟกัสไปที่ 1.ผลิตภัณฑ์ จะมีรถรุ่นใหม่ 2 รุ่น ได้แก่ เอ็กซ์แพนเดอร์ ที่จะเปิดตัวกลางปีนี้ และอีกหนึ่งรุ่นใหม่ โดยในรุ่นเอ็กซ์แพนเดอร์มีความล่าช้าและต้องเลื่อนการเปิดตัวในตลาดไทยเพราะได้รับความนิยมจากตลาดอินโดนีเซียอย่างมาก นอกจากนั้นแล้วจะมีรุ่นปรับโฉมอีก 3 รุ่น และ มีรุ่นพิเศษ สเปเชียล อิดิชันอีก 4 รุ่น 2.กิจกรรมการตลาด จะเน้นเชิงรุกมากขึ้น มีการใช้ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งเข้ามาในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และมีการนำเสนอคอนเซ็ปต์ใหม่ Drive your Ambition

กลยุทธ์ต่อมาคือ เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า เพราะปีที่ผ่านมาได้พัฒนาตัวแทนจำหน่ายทั้งก่อนและหลังการขาย ดังนั้นในปีนี้ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการลงทุน 200 ล้านบาท ในการเปิดศูนย์ฝึกอบรม “Education Academy” ที่ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 10 ไร่ ย่านลำลูกกา จะเปิดดำเนินการเดือนกุมภาพันธ์ โดยจะใช้เพื่อฝึกอบรมพนักงานทั้งส่วนการขาย การบริการหลังการขาย ทั้งฝ่ายดูแลอะไหล่ การดูแลลูกค้าส่วนต่าง ขณะที่โชว์รูมและศูนย์บริการจะมีการพัฒนาและปรับโฉม พร้อมทั้งเปิดเพิ่ม จากปัจจุบันที่มี 217 แห่ง และในปีนี้จะเพิ่มเป็น 230 แห่ง จากนั้นภายใน 3 ปี จะขยายเป็น 250 แห่งทั่วประเทศ

++ความคืบหน้ารถไฟฟ้า
ปีที่ผ่านมามิตซูบิชิได้ประกาศความสนใจในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อินไฮบริด ซึ่งเงื่อนไขของรถประเภทนี้ยังเปิดโอกาสให้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอได้จนถึงสิ้นปี 2561 ดังนั้นยังถือว่ามีเวลาที่จะศึกษาถึงความพร้อมด้านต่างๆ

++เป้าหมายในปี 2561
คาดว่ายอดขายจะเติบโตและส่วนแบ่งตลาดในปีนี้จะมากกว่า 8% โดยรถธงยังคงเป็นปิกอัพไทรทัน ส่วนเอ็กซ์แพนเดอร์ ที่เข้ามาใหม่น่าจะทำยอดขายได้ไม่เกิน 10% ของยอดขายรวม ขณะที่แอททราจก็คาดว่าจะได้รับความนิยมต่อเนื่อง เพราะมีออพชันและราคาที่เหนือกว่าคู่แข่งที่อยู่ในเซ็กเมนต์เดียวกัน

ส่วนตัวเลขส่งออกจะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยปี 2560 มิตซูบิชิส่งออกด้วยยอด 3.33 แสนคัน เพิ่มขึ้น 2 % แบ่งสัดส่วนออกเป็น CBU (ส่งออกทั้งคัน ) 2.9 แสนคัน ลดลง 6% และแบบ CKD (ส่งแบบชิ้นส่วนเข้าไปประกอบ) 4.3 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 139 % ซึ่งสัดส่วน CBUที่ลดลงเป็นผลมาจากโรงงานใหม่ที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เพิ่งเริ่มผลิตทำให้การส่งออกแบบ CBU ลดลง แต่ส่งแบบ CKD เพิ่มขึ้น

ขณะตลาดหลักที่มีการส่งออกในปีที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น เอเชีย 30%, ยุโรป 23%, อเมริกาเหนือ 19%, โอเชียเนีย 11%,ลาตินอเมริกา 11% และอัฟริกา 2%

[caption id="attachment_256194" align="aligncenter" width="356"] โมะริคาซุ ชกกิ โมะริคาซุ ชกกิ[/caption]

++ตัวเลขส่งออกCBUลดลง
ตัวเลขการส่งออกรถแบบทั้งคันที่ลดลง ไม่ได้เป็นการลดบทบาทฐานการผลิตของโรงงานจากประเทศไทย โดยไทยยังคงเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนโรงงานอื่นๆทั่วโลก อาทิ อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, บราซิล, รัสเซีย โดยนอกจากจะต้องส่งชิ้นส่วนเข้าไปจำนวนมากขึ้นแล้ว ยังมีการส่งคนไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานในต่างประเทศด้วย

++กำลังการผลิตของโรงงาน
โรงงานมิตซูบิชิที่แหลมฉบังมีกำลังการผลิตสูงสุด 4.24 แสนคัน ซึ่งถือเป็นฐานผลิตที่สำคัญของมิตซูบิชิ โดยในปีที่ผ่านมาผลิตรถทั้งสิ้น 4 แสนคัน เพิ่มขึ้น 3 %

++ภาพรวมตลาดปี 2561
ประเมินว่ายอดขายรวมทั้งตลาดรถยนต์จะทำได้กว่า 9 แสนคัน หรือเติบโตประมาณ 3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ จีดีพีที่ยังเติบโต 4% ,มีการลงทุนต่อเนื่องจากภาครัฐฯ,ราคาพืชผลเกษตรกรรม ราคาข้าว, การท่องเที่ยวที่ยังเติบโต, ตลาดส่งออก อย่างไรก็ดีมีปัจจัยที่น่าเป็นห่วงคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่า อาจจะกระทบกับตลาดอื่นๆอาทิการเกษตร

++ความร่วมมือกับนิสสัน
ปีที่ผ่านมา เรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ ประกาศ ALLIANCE 2022 ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้มีการดำเนินงานไปบางส่วนอาทิ Joint Transportation การขนส่งสินค้าร่วมกัน , Sale Finance ที่ก่อตั้งมิตซูลีสซิ่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากนิสสันลีสซิ่ง ,Joint Purchasing Cost-Reduction ที่มีการพูดคุยร่วมกันระหว่างทีมวิศวกร เพื่อปรับปรุงและลดต้นทุนในการจัดซื้อจัดจ้าง, Alliance Production Way การจัดการผลิตร่วมกัน
728x90-03-3-503x62-3-503x62
++กลยุทธ์มิตซูบิชิ
• เปิดรถใหม่ปีนี้ 2 รุ่น
• เอ็กซ์แพนเดอร์เลื่อนเปิดตัวจากมี.ค.เป็นกลางปี
• ส่งออกแบบ CBU ลดลง แต่ส่งแบบ CKD เพิ่มขึ้น
• ลงทุน 200 ล้านบาทเปิดศูนย์ฝึกอบรม “Education Academy”
• ตั้งเป้าภายใน 3 ปีมีโชว์รูม 250 แห่งทั่วประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,337 วันที่ 4 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว