Do & Dream ... "ไม่สำเร็จก็ไม่ยอมแพ้"

23 ก.พ. 2561 | 09:37 น.
1628

Do & Dream ... “ไม่สำเร็จก็ไม่ยอมแพ้”

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ คนที่ 18

ผมใช้แนวคิด “Do & Dream” มาตั้งแต่เด็ก เพราะทุกสิ่งที่เราจะก้าวเดินนั้น ภาพของความฝัน คือ สิ่งสำคัญในการนำทางเราให้มีแรงบันดาลใจ และเมื่อเริ่มฝัน สิ่งที่ต้องทำต่อ คือ การลงมือทำ หาวิธีทำ และทำในสิ่งที่เรารัก เราอยากจะทำให้เป็นความจริง ถ้าลองปฏิบัติและไม่บรรลุผลก็ลองหาวิธีใหม่ ๆ ผ่านการคิด และเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ด้วยการท่องอยู่ในใจเสมอว่า “ไม่สำเร็จ ก็ไม่ยอมแพ้”

“ตอนเด็ก ๆ เคยมีภาพความฝันว่า อยากเติบโตอย่างมีคุณภาพ ได้ทำงานจนประสบความสำเร็จในสายอาชีพที่รับผิดชอบด้วยความเชี่ยวชาญ ซึ่งความฝันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นขณะหลับยามใกล้รุ่ง แต่เกิดจากการปลูกฝังของครอบครัว ทั้งทางด้านไอคิวและอีคิว ไม่ว่าจะเป็น การพาไปร้านหนังสือในขณะนั้น อย่าง ร้านผดุงศึกษา คลังวิทยา แพร่พิทยา ส่งผลให้ตัวเองรู้สึกรักการอ่านในทุกขณะ โดยเฉพาะหนังสือนวนิยายจีนกำลังภายใน หรือจะเป็นการเล่นดนตรี ‘ซอ’ เครื่องสายที่ทรงคุณค่าของดนตรีไทย รวมถึงไวโอลินและแซกโซโฟน จาก ดร.แซ็ก หรือ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข พร้อมกันนี้ยังหลงใหลในการเล่นกีฬา ทั้งฟุตบอลและแบดมินตัน เพราะกีฬาไม่ได้มีดีแค่เหงื่อไหล แต่ยังเป็นบันไดสำหรับการเรียนรู้ที่หลากหลายในชีวิต” ... เส้นทางความทรงจำในวัยเด็กที่ชวนให้เราอมยิ้มในโทนเสียงที่เป็นกันเอง ของ ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ คนที่ 18

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ผู้ว่าการการเคหะฯ ท่านนี้ ไม่รอให้จังหวะของวัยเด็กหมดไป ได้เล่าถึงการค้นหาตัวอย่างน่าสนใจว่า หลังจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตัดสินใจศึกษาในระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ต่อในทันที และเริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการทำงานในหลากหลายด้าน ทั้งการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี การทำงานในสายการตลาดให้กับแบรนด์สินค้า และการทำงานในสายการเงินที่ตัวเอง รู้สึกว่า ถนัดและตรงกับสายที่ศึกษาในธนาคารต่าง ๆ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารแห่งประเทศไทย

จากประสบการณ์การทำงานที่หลากหลายหลอมรวมให้ ดร.ธัชพล และกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญ สนับสนุนให้การขึ้นสู่ตำแหน่ง ‘ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ’ ซึ่งต้องรับมือกับการบริหารจัดการทุกรูปแบบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รังสรรค์ ประสิทธิผลสูงสุดเพื่อสังคมไทย และถือเป็นนักการเงินที่มีมุมมองด้านการตลาดเข้ามาผสมผสานอย่างลงตัว

“จริง ๆ แล้ว บนโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวที่ทุกคนต้องจัดการ และหนึ่งในนั้น คือ อุปสรรค ซึ่งปฏิเสธและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะหนี้ให้พ้นไป แต่ตนเชื่อและศรัทธาว่า วิธีการเอาชนะทุกอุปสรรค คือ การหาสาเหตุ จากนั้นกำหนดทางเลือกและกลั่นกรองวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างมีสติ คิดให้เยอะและกว้าง มองภาพรวมเป็นเข็มทิศ แต่ถ้าหากยังคิดไม่ออก ลองไปผ่อนคลาย หรือไปอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก เมื่อทุกอย่างผ่อนคลาย ก็มาคลี่คลายอุปสรรคอีกครั้ง และไม่ว่าอุปสรรคที่ทุกคนกำลังเผชิญจะใหญ่มากแค่ไหน ขอให้ระลึกและเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า ‘ทุกอย่างอยู่ที่ใจ’ หากคุณยอมทุกอย่างจบ แต่ถ้าหากคุณไม่ยอมแพ้จะไปกังวลหรือกลัวสิ่งใด”


25-3337

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ตรงกับเข็มทิศและเป้าหมายขององค์กร ทำให้ ดร.ธัชพล ต้องเผชิญความท้าทายในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการ ‘การบริหารอาคารคงเหลือ’ ซึ่ง ดร.ธัชพล แก้ปัญหาโดยการนำหลักการตลาด อย่าง Market Segmentation เข้ามาจับ โดยแบ่งกลุ่มผู้อยู่อาศัยออกเป็นกลุ่มย่อยที่แตกต่างกัน อาทิ ผู้อยู่อาศัยในแถบ จ.สมุทรสาคร จะเป็นแรงงานต่างชาติ, ผู้อยู่อาศัยที่ จ.สมุทรปราการ เป็นแหล่งอุตสาหกรรม, ผู้อยู่อาศัยใน จ.นครปฐม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ และ จ.ปทุมธานี เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เมื่อมีการจัดสรรและแบ่งเกณฑ์ความต้องการ บุคลิกลักษณะหรือพฤติกรรม ในเบื้องต้นจะช่วยให้การจัดการที่อยู่อาศัยเป็นไปได้อย่างลงตัว ก่อเกิดเป็นชุมชนและตอบโจทย์การอยู่อาศัยในสังคมต่าง ๆ ได้อย่างเข้าใจ ในปีที่ผ่านมา การเคหะฯ ตั้งเป้าไว้ 1 หมื่นหน่วย แต่สามารถทำได้ถึง 1.5 หมื่นหน่วย และคาดว่า ปี 2561 นี้ การเคหะฯ จะสามารถทะลุเป้าหมาย 1.3 หมื่นหน่วย ที่กำหนดไว้ได้ เพราะในขณะนี้เพียงไตรมาสแรกก็สามารถดำเนินการสำเร็จได้แล้วกว่า 5 พันหน่วย

“เพราะการเคหะแห่งชาติในวันนี้ ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่สร้างบ้านอย่างเดียว” ในด้านการเงิน การเคหะฯ ได้นำเอาหลักการ ‘Securitization’ หรือรูปแบบ PPP มาปรับใช้เพื่อระดมทุนร่วมกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยในทุกจังหวัดของประเทศไทย โดยสิ่งที่การเคหะฯ จะเข้าไปเติมเต็มนอกจากมาตรฐานการก่อสร้าง คือ การเชื่อมโยงระบบการเงิน การทำการตลาด หรือการขาย รวมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดี และแสดงออกถึงการบริหารทรัพย์สินให้เกิดมูลค่าและประสิทธิภาพที่ดีที่สุด

แม้การเป็นผู้ว่าการจะทำงานเข้มข้น แต่ ดร.ธัชพล กลับมองว่า นี่คือ ความสุข โดยเฉพาะการได้ลงพื้นที่ไปพบกับประชาชนเพื่อฟังและเข้าถึงปัญหา นำเสนอวิสัยทัศน์ และนำเอาตะกอนทางความคิดของทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ประชาชน ทีมงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มาบูรณาการร่วมกันเพื่อพัฒนาการเคหะฯ ให้ก้าวเดินต่อไปอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้การเป็นคนชอบเข้าสังคม ไม่ได้ปฏิบัติเพียงหน้าที่ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ในการดำเนินชีวิต อาทิ การไปเดินเล่นที่ตลาดนัดจตุจักรแทบจะทุกอาทิตย์ การออกหาแผ่นซีดี Jazz เพื่อนำมาสะสม รวมทั้งการเป็นหนอนหนังสือในทุกวินาที
1636
ยิ่งไปกว่านั้น ในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้ว่าการมากความสมารถด้านการเงินท่านนี้ ยังเล่นดนตรีชนิดต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการดูแลครอบครัว ตลอดจนหาเวลาในการออกกำลังกายผ่านการเล่นกีฬา ทั้งฟุตบอลและแบดมินตัน เพราะตนเชื่อเสมอว่า กีฬาช่วยให้เรารู้จักอดทนอดกลั้นยามที่ถูกกระทบกระทั่ง ช่วยให้เรารู้จักการยอมรับคำว่า ‘พ่ายแพ้’ ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เรารู้จักการมุ่งมั่นและพัฒนาตนเอง เพื่อที่จะเป็นผู้ชนะในโอกาสต่อไป

ภาพคำว่า ‘ไม่ยอมแพ้’ ที่เห็นเด่นชัด คือ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการทำงานในทุกด้าน เมื่อได้รับโอกาสอย่างตั้งใจ ยิ่งไปกว่านั้นยังนำเอาความรู้ที่ได้ออมไว้ มาปรับใช้กับปัจจุบันอย่างสร้างสรรค์ เป็นที่มาของผลงานมากมายในองค์กรต่าง ๆ ที่ผ่านมา อาทิ ธนาคารออมสิน และการเคหะแห่งชาติ และนี่คือ คำว่า Do & Dream ให้กลายเป็นจริง โดยการมีฐานความคิดที่มั่นคงดังกล่าวผสมผสานกับทัศนคติเชิงบวกในการจัดการปัญหาหรืออุปสรรค ตลอดจนการเปิดรับสิ่งใหม่อยู่เสมอด้วยรอยยิ้ม และทำกิจกรรมยามว่างที่ตนรักด้วยความสุข คือ เสาเข็มทางความคิดที่สามารถผลิตและต่อเติมกระบวนการคิดของใครหลาย ๆ คน ต่อจากนี้ให้ก้าวเดินหน้าไปได้อย่างมั่นใจ เพียงไม่ยอมแพ้นั่นเอง ... ‘ดร.ธัชพล กาญจนกูล’


เรื่อง | อนุวัฒน์ โพธิ์ทอง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,337 วันที่ 4-7 ก.พ. 2561 หน้า 25

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว