‘ดีแทค’ปรับองคาพยพ มุ่งหน้าปั้นคนดิจิตอล

08 ก.พ. 2561 | 08:53 น.
ออกมาลดแรงกระเพื่อมหลังจากเกิดกระแสข่าวลืออย่างหนักว่า ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ปรับลดพนักงานจำนวน 1 พันคนภายในสิ้นปี 2561 เหตุผลหลักๆ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ

ไม่เพียงแต่เรื่องจะปรับลดพนักงานเท่านั้น หากแต่ปรากฏมีรายชื่อของ นายสิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด (Chief Marketing Officer : CMO) ที่เพิ่งย้ายมาจาก บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ได้ยื่นใบลาออกด้วย มีผลอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมนี้

ซึ่งนายสิทธิโชค ตอบคำถาม “ฐานเศรษฐกิจ” เพียงสั้นๆ ว่า ไม่ขอเปิดเผย ขอให้รอ ดีแทค ชี้แจงอย่างเป็นทางการ และจะมีการชี้แจงภายในไตรมาสแรกของปี 2561

ล่าสุด ดีแทค ได้แต่งตั้งนายแอนดริว กวาลเซท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานดิจิตอลจะเข้าดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด

++มุ่งแบรนด์ดิจิตอล
หลังจากมีเสียงรํ่าลือเล็ดลอดออกมาสู่สาธารณชน ปรากฏว่า ซีอีโอ ของ ดีแทค คือ นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงว่า จากแนวโน้มการใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นและดิจิตอลไลฟ์สไตล์ของไทย ทำให้ ดีแทค ปรับตัวเองมุ่งสู่การเป็นแบรนด์ดิจิตอลที่ลูกค้าชื่นชอบภายในปี 2563 โดย ดีแทค ตั้งเป้าหมายในการสร้างรายได้จากช่องทางดิจิตอลถึง 35% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเลขหลักเดียว เช่นเดียวกับงานบริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิตอลถึง 95% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเท่าตัว ขณะเดียวกัน งบการตลาดจะถูกโยกไปยังช่องทางดิจิตอลถึง 65% หรือมากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน

datacl

“ดีแทคมีการเติบโตด้านดิจิตอลอย่างมีนัยสำคัญในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์องค์กรสู่การเป็นแบรนด์ดิจิตอลในปี 2563” นายลาร์ส กล่าว

การทำการตลาดออนไลน์ผ่านนวัตกรรมดิจิตอล พัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ตลอดจนกระตุ้นการใช้งานและบริการให้ดีขึ้น ทั้งทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน ทำให้ปีที่ผ่านมาการชำระเงินผ่านแอพพลิเคชันดีแทคเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในขณะที่การเพิ่มยอดขาย (upselling) จากแอพดีแทคมีสัดส่วนที่ 60%

++รับเพิ่ม 200 ตำแหน่ง
จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงความสำคัญในการพัฒนาช่องทางดิจิตอลให้ดีขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้งานในอนาคต ทำให้ ดีแทค ต้องเพิ่มตำแหน่งงานด้านดิจิตอลอีกกว่า 200 ตำแหน่งในปี 2563 ขณะเดียวกัน ดีแทควางแผนที่จะปรับเพิ่มและลดการลงทุนในหลายด้าน ปรับรูปแบบการจัดการในองค์กร และลดความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวน การการทำงาน เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนได้อย่างคล่องตัวและพนักงานมีศักยภาพในการทำงานมากขึ้น โดยดีแทคตั้งเป้าหมายการบริหารขนาดขององค์กรให้มีตำแหน่งงานประจำจำกัดจำนวนไว้ไม่เกิน 4,000 คนในปี 2563

“ดีแทค จะมุ่งเน้นในสิ่งที่เราสามารถทำได้ดี นั้นคือการมอบการบริการด้านดิจิตอลที่ดีที่สุด ที่ตรงความต้องการของลูกค้า และการเข้าถึงข้อมูลที่ครบถ้วนอย่างง่ายดาย โดยที่พนักงานทุกคนจะทุ่มเทกำลังทั้งหมดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และการบริการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า” นายลาร์ส กล่าว

dtac

++หล่นอันดับ3
จากการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดปรากฏว่า ดีแทค จากที่มีฐานลูกค้าเป็นอันดับ 2 ถูก ทรูมูฟเอช เบียดขึ้นแทนที่ ด้วยจำนวนตัวเลขผู้ใช้บริการ ณ ไตรมาส 3/2560 ที่จำนวน 26.7 ล้านราย

ดีแทค ชี้ผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2560 มีฐานลูกค้าอยู่ที่ 22.7 ล้านรายเท่านั้น โดย 98% ลงทะเบียนอยู่ภายใต้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือดีแทค และถือใบอนุญาตใช้คลื่น 2100 MHz จาก กสทช. จำนวนผู้ใช้บริการ 4G เพิ่มขึ้นเป็น 7.2 ล้านราย ส่วนอัตราการใช้งานอุปกรณ์โทรศัพท์ที่รองรับเทคโนโลยี 4G เพิ่มขึ้นเป็น 51% ดีแทคยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในการขยายโครงข่าย โดยเพิ่มจำนวนสถานีฐานภายใต้ระบบใบอนุญาตขึ้น 32% ในปี 2560 ครอบคลุม 94% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

นอกจากนี้ ดีแทค กำลังรอการอนุมัติเพื่อเปิดให้บริการไร้สายความเร็วสูงบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ภายใต้ความร่วมมือ กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อเพิ่มจำนวนแบนด์วิดธ์สำหรับบริการ 4G

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6
สำหรับปี 2561 ดีแทคคาดการณ์ว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย และ EBITDA (ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงการให้บริการ 2300 MHz ที่มีกับทางทีโอที) จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนในปี 2561 จะอยู่ที่ระดับ 15,000 -18,000 ล้านบาท

เมื่อ ซีอีโอ ของ ดีแทค ออก มายืนยันว่ายังคงรักษาบุคลากรจำนวน 4,000 คน ต้องจับตาดูว่า ช่วงรอยต่อก่อนสิ้นปี 2561 กระแสข่าวดังกล่าวจะยังคงนิ่งสงบหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าจับตา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,337 วันที่ 4 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว