ปตท.ผนึกกฟผ.ลุยพลังงานสร้างความมั่นคง-แข่งเอกชน

07 ก.พ. 2561 | 10:05 น.
สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันที่เปิดกว้างมากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ความเสมอภาคของการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจกับเอกชนเริ่มอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน รัฐวิสาหกิจทั้งหลายจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเร่งด่วน เพื่อให้สามารถรักษาบทบาทของตัวเองไว้ก่อนที่เอกชนจะเข้ามาทำหน้าที่แทน

บทบาทหน้าที่สำคัญด้านพลังงาน ปัจจุบันมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่หลักในการจัดหาพลังงาน นํ้ามัน ก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) ทำหน้าที่หลักในการผลิตไฟฟ้าป้อนประเทศ แต่ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเปิดกว้างเพื่อให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดหาพลังงาน โดยใช้กลไกการแข่งขันด้านราคาต้นทุนเป็นเกณฑ์การพิจารณา

++เพิ่มบทบาทปตท.-กฟผ.
จากกระแสการลดบทบาทการทำหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมายืนยันว่า จะไม่มีนโยบายปรับลดบทบาทของ ปตท. และ กฟผ. แต่อย่างใด และรัฐบาลยังมอบหมายให้ทั้ง 2 องค์กร ทำหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่สำคัญต่อความมั่นคง ซึ่งได้แก่ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สายส่งไฟฟ้า รวมทั้งสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และโรงไฟฟ้าหลัก ที่จำเป็นในการสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ จะยังคงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงาน

ในทางกลับกันทั้ง 2 องค์กร จะต้องร่วมมือกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ หากการผลิตไฟฟ้า และการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ที่นอกเหนือจากความจำเป็นสำหรับความมั่นคงแล้ว เปิดให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในระบบที่มีการแข่งขัน กับปตท. และ กฟผ. ในพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน โดยจัดให้มีการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอย่างเป็นธรรม

TP8-3337-B ++เดินองค์กรเดียวเชื่องช้า
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิ ภาพในการผลิตไฟฟ้า พร้อมที่จะปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยน แปลงในอนาคต โดยจะต้องเร่งปรับองค์กรให้รวดเร็วและลด ต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มความคล่องตัวให้กับ กฟผ. ซึ่งแนวทางในการเร่งปรับองค์กรนั้น จะต้องมุ่งเน้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะ กฟผ.เป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (พ.ร.บ.กฟผ.) ที่ควรเป็นผู้นำริเริ่มการลงทุนในรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าตํ่าลง

แต่ด้วยกระบวนการขั้นตอนที่ซํ้าซ้อน ทำให้การเดินหน้าโครงการเกิดความล่าช้า ซึ่งก่อนหน้านี้บางโครงการที่บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จับมือกับเอกชน อาทิ โรงไฟฟ้าพลังนํ้านํ้าเงี้ยบ 1 ที่ สปป.ลาว กำลังการผลิต 289 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกวางจิ 1 กำลังการผลิต 1.2 พันเมกะวัตต์ ที่เวียดนาม พบว่าขั้นตอนการขออนุมัติต้องใช้ระยะเวลานาน สุดท้ายจึงกลายเป็นตัวถ่วงโครงการ

“ที่ผ่านมา กฟผ.มีข้อจำกัดต่างๆทำให้เชื่องช้าในการออกไปลงทุนธุรกิจใหม่ๆ และพ.ร.บ.กฟผ.ไม่ได้เปิดกว้างเรื่องการลงทุน ดังนั้น จึงได้เสนอเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.กฟผ. เพียงหวังว่าขั้นตอน กระบวนการจะลดลง แต่พบว่าการแก้ไขเป็นเรื่องยาก ดังนั้นแนวทางจากนี้ กฟผ.จะพยายามลงทุนร่วมกับบริษัทอื่นๆเพื่อลดต้นทุน ซึ่งการจับมือกับ ปตท.เป็นสิ่งที่น่าดำเนินการ และไม่ขัดต่อพ.ร.บ. ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความแล้วเห็นว่าการลงทุนของ กฟผ.สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบร่วมทุน

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6
ทั้งนี้ กฟผ.พร้อมแข่งขันในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิล เพราะที่ผ่านมาถูกกำหนดให้แข่งขันบนผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 5.7% ตํ่ากว่าภาคเอกชนที่มีผลตอบแทนการลงทุน 2 หลัก แต่ กฟผ.ก็ยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในต้นทุนที่ตํ่ากว่าประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย และหากให้แข่งขันด้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ก็พร้อมที่จะแข่งบนกติกาเงื่อนไขเดียวกัน ซึ่ง กฟผ.ยังจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นเครื่องมือของรัฐที่จะช่วยภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน

++ปตท.ยันนโยบายถูกทาง
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ชี้ให้เห็นว่า อนาคต ปตท.มีแผนขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ซึ่ง กฟผ. มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นจะมีความร่วมมือกัน ศึกษาตั้งแต่ธุรกิจก๊าซแอลเอ็นจีไปจนถึงโรงไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ปตท.มีบทบาทเพิ่มขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีโครงการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี รวมทั้ง ปตท.อยู่ระหว่างลงทุนท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 เพื่อเสริมความมั่นคงก๊าซฝั่งตะวันออก-ตะวันตก การขยายคลังรับแอลเอ็นจี และกำลังก่อสร้างคลังแอลเอ็นจีแห่งที่ 2

ดังนั้น ความร่วมมือเพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของ กฟผ. และ ปตท. ในครั้งนี้ นับว่าเดินมาถูกทาง เพราะนอกจากจะเพิ่มบทบาทด้านพลังงาน ทั้งนํ้ามัน ก๊าซธรรมชาติ และการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังเสริมความเข้มแข็งให้กับรัฐวิสาหกิจ ยังเป็นการนำจุดเด่นของแต่ละหน่วยงานเข้ามาเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน เชื่อว่าผลสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ย่อมตกอยู่กับประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,337 วันที่ 4 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว