กรมสุขภาพจิต เผย“ปัญหาเครียด” ครองแชมป์ปรึกษาสายด่วน 1323 ในปี 60

02 ก.พ. 2561 | 07:45 น.
กรมสุขภาพจิตเผยคนไทยมีแนวโน้มเครียดกันมากขึ้น ผลการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในปี 2560 พบประชาชนโทรปรึกษาเรื่องปัญหาเครียด วิตกกังวลมากเป็นอันดับ 1 เกือบ 30,000 สาย เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2557 เป็นวัยทำงานมากที่สุด แนะเทคนิคลดเครียดให้วัยทำงานยึด 10 วิธีปฏิบัติ ได้ผลทั้งงาน-เพื่อน-สุขภาพ ชี้หากปล่อยความเครียดสะสม จะส่งผลต่อสุขภาพกายตามมา ขั้นเสื่อมสมรรถภาพทางเพศทั้งชายและหญิง มีลูกยากขึ้น

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคเครียดว่าว่า สภาพการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร วิถีชีวิตที่เร่งรีบ ส่งผลให้ประชาชนทั้งเขตเมืองและชนบทเผชิญกับความเครียดทุกวันอย่างไม่รู้ตัวและหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยอาการมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางอารมณ์สภาพแวดล้อมและความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคน กลุ่มที่น่าห่วงมากคือวัยทำงาน เนื่องจากต้องรับผิดชอบหลายอย่างทั้งครอบครัวและที่ทำงาน ผลการให้บริการทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในปี 2560 พบว่าปัญหาที่ขอรับบริการมากเป็นอันดับ 1 ได้แก่เรื่องความเครียด วิตกกังวล รวม 27,737 สาย คิดเป็นร้อยละ 40 ของสายที่โทรขอรับบริการทั้งหมด 70,268 สาย โดยจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีจำนวน 14,935 สาย กลุ่มอายุที่ใช้บริการมากที่สุดคือ อายุ 22-59 ปีคิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด รองลงมาคือกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-21 ปี ร้อยละ 15 ที่เหลือเป็นผู้สูงอายุ

728x90-03-3-503x62-3-503x62 อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีความเครียด หากปล่อยความเครียดสะสม จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตการทำงานและชีวิตประจำวัน มีปัญหาสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้าง ความสามารถในการทำงานลดลงหรือผิดพลาดบ่อย และที่สำคัญความเครียดจะมีผลให้ภูมิต้านทานโรคลดลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ เป็นหวัดได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีผลให้การทำงานของอวัยวะภายในผิดปกติ เกิดเป็นโรคเรื้อรังได้ เช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มีบุตรยากขึ้น เป็นต้น ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ผู้ทำงานทุกคน ยึดหลักปฏิบัติ 10 วิธีเพื่อช่วยลดความเครียด ดังนี้ 1. ออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาทีทุกวัน หรือให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินส์ (Endorphins) จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายอาการเครียด สมองโล่ง และอารมณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 90 -120 นาทีหลังออกกำลังกาย ช่วยให้นอนหลับสนิทและนานขึ้น

2. สร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงาน โดยใช้คำพูดเหล่านี้ให้ติดปาก ได้แก่ สวัสดีเพื่อทักทาย ขอโทษ ขอบคุณ ชื่นชมอย่างจริงใจเมื่อเพื่อนร่วมงานทำดี 3.สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ด้วยการแสดงน้ำใจช่วยเหลือกัน ห่วงใยกัน ให้กำลังใจกัน 4.ระหว่างการทำงานควรพักบ้างเพื่อผ่อนคลาย อาจใช้วิธีหลับตาเพื่อพักสายตา 5-10 นาที หรือเดินยืดเส้นยืดสายก็ได้ 5. ใช้สติจัดการกับอารมณ์ 6. บริหารจัดการเวลาทำงานอย่างเหมาะสม ให้งานเสร็จทันเวลากำหนด 7. กล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็น บอกความต้องการในเชิงสร้างสรรค์ 8. สร้างความเชื่อมั่นให้ตนเอง โดยให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอว่า“เราต้องทำได้” 9. ฝึกนิสัยการออมรายได้ส่วนหนึ่งไว้เพื่ออนาคต การมีเงินออมจะทำให้เรามีความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ และ 10.ต้องแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี อย่าหนีปัญหา โดยแก้ที่สาเหตุ หากแก้ไม่ได้ อย่าอาย หรือกลัวเสียหน้า ขอให้ปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้วางใจ

“หากเกิด 3 อาการดังต่อไปนี้ คือ 1. รู้สึกว่าตัวเองมีอาการสับสนเหมือนคนหลงทาง 2. มีความเครียดวิตกกังวลเกินกว่าเหตุและห้ามตัวเองไม่ได้ และ 3. นอนไม่หลับ กินไม่ได้ หงุดหงิดตลอดเวลา หากมีอาการในข้อใดข้อหนึ่งปรากฎ ขอให้ปรึกษาจิตแพทย์หรือแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือขอรับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ฟรีที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ถูกวิธี ไม่แก้ไขด้วยวิธีการที่ผิดๆ เช่นกินยานอนหลับเอง หรือดื่มสุรา ใช้สารเสพติดเป็นต้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว