6 แบงก์นําร่องยื่นธปท. เปิดe-Marketplace

03 ก.พ. 2561 | 01:16 น.
ธปท.เผย สถาบันการเงิน 6 ราย สนใจให้บริการ e-Marketplace Platform ชี้ต้องคุยหลายมิติ เหตุเป็นธุรกิจใหม่ต้องพร้อมหลายด้าน ระบุค่าธรรมเนียมต้องเหมาะสม แม้ไม่กำหนดเพดาน

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า สถาบันการเงินที่สนใจทำธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace Platform)ต้องแจ้งธปท.รับทราบล่วงหน้า 30 วัน เพื่อให้มีการพูดคุยก่อนได้รับการอนุมัติ หลังจากที่ธปท.ได้ออกแนวทางการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Market place Platform) ไปเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา

[caption id="attachment_254412" align="aligncenter" width="351"] สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา[/caption]

ปัจจุบันมีสถาบันการเงินเข้าพูดคุยแล้ว 6 ราย แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์ 5 ราย และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) 1 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเอกสารประกอบการพิจารณา เช่น ปริมาณและมูลค่าธุรกรรมการซื้อขาย ข้อร้องเรียน และแนวทางการแก้ไข ซึ่งธปท.ขอให้สถาบันการเงินที่สนใจต้องส่งรายงานให้ธปท.รับทราบเป็นรายไตรมาสและต้องส่งเอกสารต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับการอนุมัติให้ทำแล้วก็ตาม เพื่อธปท.จะได้ติดตามวิเคราะห์ธุรกรรมและความเสี่ยงได้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้การเปิดให้บริการ e-Marketplace Platform ส่วนหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์สนับสนุนในเรื่องอี-เพย์เมนต์ เพื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เพราะเป็นการชำระเงินออนไลน์ ซึ่งธนาคารยังสามารถนำธุรกรรม (Transaction) ไปพิจารณาเรตติ้งการปล่อยสินเชื่อหรือ Information Base Lending ให้กับผู้ประกอบการได้ในอนาคต และผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลางจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และประหยัดต้นทุนการวางหน้าร้านได้ด้วย โดยธปท.ไม่ได้บังคับอัตราค่าธรรมเนียม ขึ้นกับการพิจารณาตามความเหมาะสมและการแข่งขัน แต่ราคาต้องสมดุล เพราะผู้ประกอบการมีทางเลือกมากขึ้น

728x90-03-3-503x62-3-503x62 “สถาบันการเงินที่มาคุย 6 ราย เราคุยกันหลายมิติ เพราะเป็นธุรกิจใหม่ จึงต้องพร้อม เช่น ต้องมีคอลล์เซ็นเตอร์ไว้รองรับ กรณีผู้บริโภคติดขัด และอยู่ภายใต้การบริหารความเสี่ยง 4 ด้านที่ธนาคารจะต้องทำ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของ e-Marketplace Platform เป็นผลจากการเติบโตของการใช้สมาร์ทโฟนและซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและจะเพิ่มขึ้นอีก จากปี 2560 ที่คาดว่ามีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8%”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว