กรุงศรีฯลั่นจ่ายรูดปรื๊ดโต 3 แสนล้าน

02 ก.พ. 2561 | 09:20 น.
กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโต 3 แสนล้านบาท พร้อมเพิ่มยอดบัตรใหม่อีก 4.5 แสนใบ มุ่งเจาะรายเซ็กเมนต์ พบชำระเบี้ยประกันมากสุด หลังจับมือเอไอเอ ชี้แนวโน้มหนี้เสียขยับเล็กน้อย

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตทั้งระบบในปี 2561 ว่า คาดว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) จะเติบโตราว 10-11% โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายภาครัฐในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม รวมถึงการซื้อ LTF-RMF ในช่วงปลายปี ขณะที่ฐานบัตรใหม่ไม่น่าจะขยายตัวมากนักอยู่ที่ 6-7% เช่นเดียวกับยอดสินเชื่อคงค้างน่าจะเติบโตอยู่ที่ 6-7%

[caption id="attachment_255510" align="aligncenter" width="335"] ฐากร ปิยะพันธ์ ฐากร ปิยะพันธ์[/caption]

ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าเติบโตสอดคล้องกับระบบ โดยคาดว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 10% หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท จากปีก่อนเติบโตประมาณ 7% หรือประมาณ 2.7-2.8 แสนล้านบาท ส่วนยอดบัตรใหม่จะอยู่ที่ 7% หรือ 4.5 แสนใบ จากยอดบัตรใหม่ปีก่อนอยู่ที่ 4.2 แสนใบ จากฐานบัตรรวมสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 8.2 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 5.6 ล้านใบ โดยฐานลูกค้าใหม่ได้รับอานิสงส์จากบัตรเซ็นทรัล เดอะวัน ที่มียอดลูกค้าใหม่เติบโตสูงถึง 70-80% ขณะที่บัตรที่มียอดใช้สมํ่าเสมอ (Active) อยู่ที่ 70% และยอดใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 1.7 หมื่นบาทต่อบัตรต่อคน

ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 7.6 หมื่นล้านบาท โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.2% และสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 3% และคาดว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลจะขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มากนัก ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมด้วย ส่วนผลกระทบจากหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) จะกระทบการเติบโตในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 5% ส่วนบัตรเครดิตจะกระทบยอดวงเงินเครดิตราว 3,000-4,000 ล้านบาท

สำหรับหมวดการใช้จ่ายผ่านบัตร จะพบว่า อันดับแรกจะเป็นการใช้จ่ายผ่านประกัน เติบโต 12% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีบริษัท เอไอเอฯ เป็นพันธมิตร ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดประกัน ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง โดยมีวงเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 หมื่นบาทต่อคน รองลงมาไฮเปอร์มาร์เก็ต สถานีบริการนํ้ามัน โฮมโปร และช็อปปิ้งออนไลน์ที่เติบโตสูงถึง 33% โดยปัจจุบันมีพอร์ตช็อปปิ้งออนไลน์หรืออี-คอมเมิร์ซอยู่ที่ 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท ส่วนหมวดร้านอาหารเติบโตอยู่ที่ 13%

728x90-03-3-503x62-3-503x62 “เราจะมุ่งเจาะเป็นเซ็กเมนต์มากขึ้น โดยทำโปรโมชันและปรับสิทธิประโยชน์ให้ตรงตามกลุ่มมากขึ้น เช่น GenY จะมุ่งไปสู่ออนไลน์ ช็อปปิ้ง ซึ่งปัจจุบันพอร์ต GenY มีประมาณ 25% ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 1.5-1.7 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มระดับบนจะได้รับอานิสงส์จากรายได้ 5 หมื่นบาทขึ้นไป ที่มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 2 หมื่นบาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันไทยมีฐานบัตรเครดิต 20.1 ล้านใบ เฉลี่ย 1 คน ถือบัตรประมาณ 2.7 ใบ แต่หากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงกังวลว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าการใช้บัตรเครดิตจะลดลง”

สำหรับการใช้ QR Code ผ่านบัตรเครดิต คาดว่า จะเริ่มได้ต้นไตรมาส 2 และร้านค้าจะทยอยใช้ได้ปลายไตรมาสที่ 2 โดยมีร้านค้าจุดรับชำระประมาณ 5 หมื่นร้านค้าภายในไตรมาสแรก และอยู่ระหว่างพูดคุยอีกราว 250 ร้านค้า ซึ่งใน 1 ร้านค้า จะมีเชนร้านค้า 100-200 ร้านค้า ดังนั้นคาดว่าภายในสิ้นปีจะมีร้านค้ารับชำระ QR Code 1-2 แสนร้านค้า และคาดว่าจะมีลูกค้าสนใจดาวน์โหลดใช้ U Choose สิ้นปีอยู่ที่ 2 ล้านราย จากปัจจุบันมียอดผู้ใช้ราว 1.2 ล้านราย

“การใช้ QR Code อาจจะมีผลต่อตลาดบัตรเครดิตบ้าง แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศจีน ที่นำ QR Code มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้ยอดการใช้บัตรเครดิตลดลงอย่างมากใน 3 ปี แต่ไทยอาจจะค่อยเป็นค่อยไป เพราะคนที่ใช้ QR Code จะเป็นร้านขนาดเล็ก แต่ร้านขนาดใหญ่ยังเป็นบัตรเครดิตอยู่ ดังนั้นจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 ปี หากทุกธนาคารผลักดันการใช้ QR Code และกระจายจุดรับชำระได้อย่างน้อย 2-3 ล้านจุด จากเป้าหมาย 5 ล้านจุดขึ้นไป และกระจายจุดรับบัตร (EDC) ประมาณ 5 แสนเครื่อง จึงจะเห็นบัตรเครดิตลดลง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว