เข้มอสังหาฯกลาง-เล็ก แบงก์เน้นรายใหญ่ ผวา‘เอ็นพีแอล’พุ่ง

03 ก.พ. 2561 | 02:29 น.
แบงก์ระมัดระวังปล่อยกู้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ดูรายละเอียดยิบ เน้นโปรเจ็กต์ดี-ความสามารถชำระหนี้ได้ก่อนอนุมัติ “กสิกรไทย” รับกระจายพอร์ตลดความเสี่ยง ยันปล่อยกู้ปกติหากลูกค้าแข็งแกร่ง-เจาะเซ็กเมนต์ลูกค้าชัดเจน “เกียรตินาคิน” เผยโยกปล่อยกู้รายใหญ่แทนรายกลางตั้งแต่กลางปีก่อน ชี้ผลตอบแทนน้อย แต่หนี้เสียตํ่า หลังเจอหนี้เอ็นพีแอลพุ่ง 20%

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 ล่าสุดจะขยายตัวถึง 4.2% สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เพื่อสถาบันการเงิน ยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ โดยจะคัดเลือกเฉพาะโครงการที่มีความเสี่ยงน้อย

นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มผู้ประกอบการอสังหา ริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) ในปีนี้ยังมีสัญญาณการขยายตัว โดยมีโครงการและโปรเจ็กต์ทยอยออกมาต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ดี แต่ยังเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความระมัดระวังสมํ่าเสมอ โดยธนาคารยังเน้นการปล่อยสินเชื่อแบบกระจายพอร์ตกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อลดความเสี่ยงหากมีปัญหาจะได้ไม่กระทบหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

กลุ่มผู้ประกอบการอสังหา ริมทรัพย์ ธนาคารยังคงเน้นพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ ความสามารถในการชำระหนี้ และฐานะความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการเป็นหลัก ซึ่งอาจพิจารณารวมไปถึงกลุ่มลูกค้า รูปแบบการก่อสร้าง ราคาต่อหน่วย สัดส่วนการวางเงินดาวน์ ตลอดจนการได้มาของที่ดิน และต้นทุนการก่อสร้าง

ทั้งนี้วงเงินการปล่อยกู้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ซึ่งบางรายอาจจะใช้วงเงินทุนตัวเอง หรือบางรายใช้เป็นโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ ขึ้นอยู่กับโครงการ แต่โดยเฉลี่ยระยะเวลาการขอกู้จะอยู่ที่ประมาณ 3-5 ปี

“ภาพรวมอุตสาหกรรมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นกลุ่มที่ต้องพิจารณาตามสภาพของบริษัท และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ความเป็นไปได้ของโครงการ แต่ปีนี้ยังพบว่ามีโครงการทยอยออกมาต่อเนื่อง ซึ่งเรายังเห็นลูกค้าขอสินเชื่อเข้ามาปกติ เราก็พิจารณาตามรายโครงการ โดยยึดการปล่อยสินเชื่อแบบกระจายตัวเพื่อลดความเสี่ยง”

MP24-3336-A นายชวลิต จินดาวณิค ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อธุรกิจในปีนี้ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการเติบโตในกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อเนื่อง หลังจากในช่วงกลางปี 2560 ธนาคารขยายการเติบโตสินเชื่อในกลุ่มนี้ได้ค่อนข้างดี โดยมีอัตราการเติบโตประมาณ 10% จากปัจจุบันสินเชื่อธุรกิจมีสัดส่วนประมาณ 20% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวมที่ 1.9 แสนล้านบาท โดยประมาณ 50% จะเป็นสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์

การหันมามุ่งเน้นกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่มากขึ้น เป็นผลมาจากธนาคารต้องการกระจายความเสี่ยง สอดคล้องกับ Risk base pricing เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาธนาคารจะมุ่งเน้นผู้ประกอบการรายกลางอย่างเดียว แม้จะได้ผลตอบแทนที่ดี แต่เป็นความเสี่ยง

ดังนั้นนับตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาธนาคารจึงหันมาให้ความสำคัญกับรายใหญ่มากขึ้น แม้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่จะให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับรายกลาง แต่ในส่วนของเครดิตและความเสี่ยงค่อนข้างดีกว่า รวมถึงอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 20% มาจากผู้ประกอบการรายกลางขณะที่รายใหญ่ยังเป็นศูนย์

[caption id="attachment_255512" align="aligncenter" width="415"] อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ อภินันท์ เกลียวปฏินนท์[/caption]

ส่วนหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ จะเน้นตามพื้นที่และทำเลที่มีศักยภาพ ความเป็นไปได้ของโครงการ รวมถึงกระแสเงินสดของผู้ประกอบการ โดยส่วนใหญ่มีทั้งคอนโดมิเนียม แนวราบ โดยเฉลี่ยวงเงินปล่อยกู้รายใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000-3,000 ล้านบาท ขณะที่รายกลางวงเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 300-500 ล้านบาท ทั้งนี้วงเงินขึ้นอยู่กับขนาดโครงการ ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละราย

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวเสริมว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในส่วนของสินเชื่อธุรกิจในกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ ธนาคารพยายามควบคุมไม่ให้เกิดใหม่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับธนาคารหันมามุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อธุรกิจในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ความเสี่ยงจากหนี้เสียลดลงได้ อย่างไรก็ดีในส่วนที่มีอยู่ของเดิมประมาณ 20% อาจจะไม่ได้ลดลงได้เร็ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว