เกษตร - มท.โหมช่วยภัยแล้ง งบ 5.4 พันล.จ่อลง 73 จ. / เปิดตัวมิสเตอร์ดูแลสินค้าเกษตร

12 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
2 ปลัด ตื่นตัวแก้ภัยแล้ง "กฤษฎา" ปลัด มท. เร่งขับเคลื่อนแผนระยะ 2 เผยทางจังหวัดเสนอโครงการมาแล้ว 73 จังหวัด คาดใช้งบกว่า 5.4 พันล้านดำเนินการ ปูพรมพื้นที่ปฏิบัติการก.พ.นี้ ด้าน "ธีรภัทร" ปลัดเกษตรฯ เปิดตัวมิสเตอร์&มิสซิสเกษตร ดูแลสินค้าเกษตรครบวงจร/ยืดเวลาชำระหนี้ลดค่าเช่า-การให้สินเชื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ เพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำหยดจะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงเมษายน

[caption id="attachment_25756" align="aligncenter" width="500"] กฤษฎา บุญราช กฤษฎา บุญราช[/caption]

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ในมาตรการที่ 4 (จากทั้งหมด 8 มาตรการ ที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือครม.ให้ความเห็นชอบเมื่อ 8 ก.ย.58) ว่า ในโครงการระยะที่ 1 กรณีปลูกพืชน้ำน้อย จังหวัดได้ส่งโครงการปลูกพืชน้ำน้อย อาทิ ปลูกถั่วเขียว ปลูกทานตะวัน ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปลูกผักบุ้งจีน เป็นต้น ทั้งนี้ได้ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีโครงการผ่านการวิเคราะห์แล้วจำนวน 167 โครงการใน 20 จังหวัดเป็นเงินงบประมาณ กว่า 167 ล้านบาท โดยครม.มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา

"โครงการที่ไม่ผ่านการวิเคราะห์ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ อาทิ การจัดซื้อพันธุ์วัว กระบือ และเครื่องจักร หรือไม่เป็นโครงการปลูกพืชน้ำน้อย หรือพื้นที่ไม่เป็นภัยแล้ง เป็นต้น จึงได้สั่งการให้มีการทบทวนโครงการใหม่ร่วมกับอำเภอ คณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัดและสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ เพื่อปรับปรุงโครงการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เพื่อเสนอในโครงการระยะที่ 2 ล่าสุด ณ วันที่ 4 มกราคม 2559 มีจังหวัดที่เสนอโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว 73 จังหวัด จำนวน 1.12 หมื่นโครงการ คาดจะใช้งบประมาณราว 5.4 พันล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินการประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้"

[caption id="attachment_25757" align="aligncenter" width="500"] ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ธีรภัทร ประยูรสิทธิ[/caption]

เช่นเดียวกับนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กล่าวว่า ฤดูแล้งในหลายพื้นได้ที่เริ่มขึ้นแล้ว พร้อมกับมาตรการเชิงรุกในการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรด้านต่างๆ ของรัฐบาลก็ได้เริ่มลงสู่พื้นที่แล้วเช่นกัน ทั้งการสนับสนุนปศุสัตว์ เช่นการสนับสนุนพันธุ์ไก่เนื้อ และไก่ไข่เพื่อสร้างรายได้ และลดรายจ่ายในครัวเรือน รวมทั้งการขยายระยะเวลาชำระหนี้ลดค่าเช่านา ตลอดจนการให้สินเชื่อปรับเปลี่ยนอาชีพและเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำหยดสู้ภัยแล้ง และฟาร์มชุมชน ฯลฯ ซึ่งจะมีต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดฤดูแล้งเดือนเมษายน 2559

"ในปีนี้จะขับเคลื่อนแผนมาตรการดูแลสินค้าเกษตร 11 ชนิดครบวงจร จึงได้แต่งตั้งผู้ตรวจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 1.นางนฤมล พนาวงศ์ จะดูแลสินค้าข้าว 2.นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข ดูแลสินค้าอ้อย สับปะรดและพืชไร่อื่นๆ 3.นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ดูแลกลุ่มสินค้ามันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน 4.นายสุรจิตต์ อินทรชิต ดูแลกลุ่มสินค้าประมง 5.นายธนิตย์ เอนกวิทย์ ดูแลสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ 6.นายสุรพล จารุพงศ์ ดูแลสินค้ายางพารา 7.นายนำชัย พรหมมีชัย ดูแลกลุ่มสินค้าผลไม้ 8.นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา ดูแลสินค้าลำไย 9.นางปาริชาติ ศรีวิพัฒน์ ดูแลกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ และ 10.นางวิมลพร ธิติศักดิ์ ดูแลสินค้า 2 กลุ่มได้แก่ สินค้าพืชหัวและพืชผัก "

นายธีรภัทร เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 8 มกราคม 2558 ว่า มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 26 จังหวัด อาทิ พะเยา พิจิตร และสกลนคร เป็นต้น และ 2 จังหวัดที่จะต้องเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (บางแสน) และอุบลราชธานี (ลำโดมใหญ่) ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาตรน้ำในอ่างรวม 3.93 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 56% ของน้ำเก็บกัก ในจำนวนนี้มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 1.58 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 34% ทั้งนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่มีปริมาตรน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ 13 เขื่อน ส่วนแม่น้ำสายสำคัญอยู่ในสภาวะน้ำน้อย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10-13 มกราคม พ.ศ. 2559