นายกฯไฟเขียวลงทุน1 ล้านล.โครงสร้างพื้นฐานอีอีซี

01 ก.พ. 2561 | 10:46 น.
กนศ.คลอดเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรม 19 แห่ง รองรับลงทุนในอีอีซี พร้อมกำหนดคุณสมบัติให้ต่างชาติถือหุ้นเกิน 49 % ในอุตฯอากาศยานได้ รวถึงไฟเขียวกรอบลงทุน 1 ล้านล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพ้นฐาน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 19 แห่ง ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งมีหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมครบถ้วนแล้ว ทำให้มีพื้นที่ใหม่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 26,200 ไร่ และประมาณว่าจะรองรับการลงทุนได้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า

[caption id="attachment_255423" align="aligncenter" width="335"] อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

โดยเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 19 แห่ง ประกอบด้วย จังหวัดระยอง จำนวน 6 แห่ง จังหวัดชลบุรี จำนวน 12 แห่ง และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 1 แห่ง นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ผ่านการศึกษาสิ่งแวดล้อมและเปิดดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยังมีที่ดินที่เหลืออยู่ ดังนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี จึงไม่จำเป็นต้องนำที่ดินอื่นๆ นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมมาประกอบอุตสาหกรรม

อีกทั้ง เห็นชอบในคุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอากาศยานในพื้นที่อีอีซี โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอากาศยานที่เป็นนิติบุคคลที่มีผู้มีสัญชาติไทยน้อยกว่า 51% ได้ เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการและสนับสนุนการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอากาศยานให้เกิดขึ้นในอีอีซี หรือสามารถให้ต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนที่เกิน 49 % ได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติ ต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย มีสำนักงานตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมของพื้นที่อีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตอากาศยาน หรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หรือหน่วยซ่อมอากาศยาน ได้รับหรือมีสิทธิในใบรับรองแบบอากาศยาน หรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่ประสงค์จะผลิต (เฉพาะกรณีที่จะผลิต) มีขีดความสามารถที่จะผลิตอากาศยาน ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ตามใบรับรองแบบหรือมีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยาน มีการควบคุมคุณภาพการผลิต หรือการซ่อม

โดยจะต้องมีการพิจารณาผ่านเงื่อนไข 2 เรื่อง ได้แก่ ระดับเทคโนโลยีสำคัญที่ต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของไทย และแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทย

นายอุตตมา กล่าวอีกวา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐาน โดยให้เพิ่มเรื่องดิจิทัลและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ นี้มีสาระสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ มุ่งพัฒนาโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ ในพื้นที่อีอีซี และพื้นที่ใกล้เคียง ให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่น่าอยู่อาศัยแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย และให้อีอีซี เชื่อมต่อกับกรุงเทพได้อย่างสมบูรณ์ รวมกันเป็นมหานครขนาดใหญ่ ลดความอัดแอของกรุงเทพฯในอนาคต โดยประชาชนสามารถเดินทางระหว่างกรุงเทพและอีอีซี เข้าสู่กรุงเทพฯ ใน 1 ชั่วโมงด้วยรถไฟความเร็วสูง และ มีสนามบินอู่ตะเภาเสมือนเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพช่วยผ่อนคลายความคับคั่งของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติ แผนนี้ประกอบด้วยโครงการ ระยะสั้น-กลาง-ยาว 168 โครงการ ในกรอบวงเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท และประมาณว่าการลงทุนจะเป็นเงินงบประมาณ 30% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 10% และรัฐร่วมทุนเอกชน (PPP) 60%

728x90-03-3-503x62-3-503x62 อีกทั้งที่ประชุมยังเห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี โดยมุ่งยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวในอีอีซี สู่การท่องเที่ยวระดับโลกอย่างยั่งยืน รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มครอบครัวและนักธุรกิจเพิ่มขึ้น ประมาณว่าใน 4 ปีเมื่อระบบคมนาคมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสมบูรณ์ขึ้น จะมีนักท่องเที่ยวในอีอีซี เพิ่มขึ้นเป็น 47 ล้านคนจาก 30 ล้านคนในปัจจุบัน ประชาชนได้รายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 5 แสนล้านบาท จาก 3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติแผนฯนี้ จึงได้เสนอโครงการภายใต้แผนฯ 53 โครงการ ในกรอบวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ 25% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 1% และรัฐร่วมทุนเอกชน (PPP) 74%

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 61 เป็นต้นไป ได้แก่ เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ เช่น เมืองการบินภาคตะวันออก ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการยกเว้นภาษีนิติบุคคล เพิ่มอีก 2 ปี รวมแล้ว 8 ปี และลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงาน มากกว่า 10 % ของพนักงานทั้งหมด หรือ มากกว่า 50 คน

เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี จากเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงาน มากกว่า 10 % ของพนักงานทั้งหมด หรือ มากกว่า 50 คน เขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 3 ปี จากเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงาน มากกว่า 5% ของพนักงานทั้งหมด หรือ มากกว่า 25 คน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว