นกสกู๊ตรายได้ปี60แตะ5.6พันล.ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์

01 ก.พ. 2561 | 09:36 น.
นกสกู๊ต เผยผลการดำเนินงานปี 2560 เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายได้เพิ่มเป็น5.6 พันล้านบาท พร้อมเตรียมขยายแผนงานอย่างยั่งยืน

นายยอดชาย สุทธิธนกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต กล่าวว่าปี 2560 นกสกู๊ต มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากปี 2559 เป็นประมาณ 5.6 พันล้านบาท โดยมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งปี 1.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 37 มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 87 จากร้อยละ 79 ในปี 2559

“ภายหลังจากการปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้นกสกู๊ตสามารถเดินหน้าตามแผนการขยายเส้นทางตามที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้ได้ โดยได้เปิดเส้นทางใหม่กรุงเทพฯ-ซีอาน ในเดือนธันวาคม 2560 เป็นลำดับแรก และได้เพิ่มความถี่ในเส้นทางบินสู่เมืองเทียนจิน ชิงเต่า และเสิ่นหยาง ประเทศจีน นอกจากนี้ได้เพิ่มเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-200 ลำที่ 4 เข้ามาในฝูงบินอีกด้วย”

ในปีที่ผ่านมาสายการบินนกสกู๊ตเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ประกอบกับการทำกิจกรรมทางการตลาดอย่างเข้มข้น รวมทั้งการใช้งานเครื่องบินอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการลดต้นทุนต่อหน่วย ทำให้รายได้สุทธิเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นปีที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุด นับตั้งแต่สายการบินเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2557

yodci

นกสกู๊ตสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องบิน เฉลี่ยจากเดิม 9.4 ชั่วโมงต่อเครื่องต่อวัน ในปี 2559 เป็น 11.5 ชั่วโมงต่อเครื่องต่อวัน ในปี 2560

นายยอดชายกล่าวต่อว่ามีความเชื่อมั่นว่า สายการบินมีสิ่งแวดล้อมในการปฏิบัติการที่เอื้ออำนวยต่อการเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง และปรับปรุงผลประกอบการด้านการเงินให้ดียิ่งขึ้นต่อไป สำหรับปี 2561 นกสกู๊ตมีแผนที่จะขยายฝูงบินด้วยการเพิ่มเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีกอย่างน้อย 1 ลำ เพื่อรองรับการเปิดเส้นทางบินใหม่แบบประจำ ไปยังประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หลังจากได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม นกสกู๊ตคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการไปสู่นาริตะได้ภายในไตรมาสที่2 และมีแผนจะเปิดให้บริการเส้นทางโอซาก้า และอินชอน ในลำดับถัดไป

“หากการขยายเส้นทางไปสู่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่ารายได้รวมของนกสกู๊ตจะเติบโตขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 แตะที่หนึ่งหมื่นล้านบาท และจะมีจำนวนผู้โดยสารมากถึง 2 ล้านคนในปีนี้ การดำเนินงานตามแผนนี้จะช่วยเพิ่มการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ”

ad-hoon-1

นอกจากนี้ นกสกู๊ตจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับนกแอร์ ที่ถือหุ้นนกสกู๊ตอยู่ร้อยละ 49 และยังเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตร Value Alliance ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสายการบินราคาประหยัด 7 สายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือระหว่างนกสกู๊ตและนกแอร์ จะเริ่มขึ้นภายในเดือนมีนาคมนี้ ด้วยบริการส่งกระเป๋าจากต้นทางไปถึงจุดหมายปลายทางสุดท้าย (baggage check-through service) อีกทั้งยังเปิดให้ผู้โดยสารสามารถสำรองที่นั่งในทุกเส้นทาง ที่ให้บริการโดยนกสกู๊ตและนกแอร์ ผ่านเว็บไซต์ของทั้งสองสายการบิน

ขณะเดียวกัน นกสกู๊ตกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาการทำเที่ยวบินร่วม (Codeshare Flight) รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ร่วมกับสายการบินในกลุ่ม Value Alliance และเครือข่ายพันธมิตรในปีนี้

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว