เขตศก.พิเศษปลุกไม่ขึ้น Wait & See ว่าที่รัฐบาลใหม่

12 ม.ค. 2559 | 09:00 น.
จากที่รัฐบาลได้มีแผนจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย นครพนม ตราด สระแก้ว กาญจนบุรี สงขลา และนราธิวาส เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาแม้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ออกแพ็กเกจสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุนผ่านบีโอไอ และกระหน่ำโรดโชว์ในต่างประเทศ แต่ปรากฏยังปลุกการลงทุนไม่ขึ้น อะไรคือสาเหตุ?

 สาเหตุเขต ศก.ปลุกไม่ขึ้น

ต่อเรื่องนี้ "สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์" ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีบีซีไอ จำกัด ผู้ชำนาญการด้านการค้าระหว่างประเทศ และโลจิสติกส์ของประเทศ และอดีตประธานอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สาเหตุหลักที่นักลงทุนยังไม่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจาก 1.นักลงทุนยังไม้รู้ว่ารัฐบาลใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไร 2.ที่รัฐบาลปัจจุบันประกาศจะนำไปสู่การเลือกตั้งในกลางปี 2560 นั้น จะทำได้จริงหรือไม่ และหากได้ ข้อที่ 3 ที่ยังต้องจับตามองคือ รัฐบาลชุดใหม่จะเป็นใคร และจะมีนโยบายส่งเสริมการค้า และการลงทุน และเศรษฐกิจอย่างไร 4.ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำรัฐบาล และใครจะเป็นรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทุกคนอยากรู้

"เขตเศรษฐกิจพิเศษยังไม่เด้งปึ๋งปั๋ง ถึงแม้จะประโคมข่าวอย่างไรก็แล้วแต่ มาจากเหตุผลข้างต้น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ส่วนคนไทยเราไม่มีปัญหา อยู่ที่ว่าจะไปลงทุนเมื่อไหร่ บริษัทใหญ่ ๆไม่อยากเอ่ยชื่อหลายๆ บริษัทเขาพร้อมที่จะไปเพราะเขาเห็นศักยภาพ แต่เขาอาจจะบอกว่ารอซักนิดนึง ไม่เร่งร้อน ขอให้รัฐบาลมาขอได้มั้ย ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลมาขอฉันจะเอาอะไรก็ได้ ตอนนี้จะรีบไปทำไม เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี ผลิตเสร็จแล้วขายให้ใคร ดังนั้นนักลงทุนไทยให้ผมวิเคราะห์ก็ยังรออยู่ เพราะไปตั้งโรงงานตอนนี้ เศรษฐกิจก็ไม่ดี สู้เอาเงินเก็บไว้ก่อนไม่ดีกว่าหรือ เพราะถ้าลงทุนต้องเอาเงินสดใส่เข้าไป รอดูสถานการณ์เศรษฐกิจซัก 2 ปี ปีที่แล้วก็ไม่ดี ปี 2559 ก็ยังไม่น่าไว้ใจ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2558 ก็ให้ออกมาแล้วน่าจะอยู่ 2.7-2.9% เป็นอย่างมาก"

รออีกค่าจ้างปรับ-ไม่ปรับ

เพราะฉะนั้นนักลงทุนไทยบอกรอไว้ก่อน ส่วนนักลงทุนต่างชาติ 1.ดูเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับไม่ปรับ เพราะตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยสูงที่สุดใน CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) สูงกว่าอินโดนีเซีย และใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ จริงอยู่เวียดนามปี 2559 จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น แต่เมื่อเทียบเป็นเงินบาทแล้วก็ประมาณ 4,800 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ไม่สูงไปกว่าค่าจ้างไทยได้ เรื่องนี้นักลงทุนญี่ปุ่นบอกมาเลยว่าเขาห่วงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับหรือไม่ จะปรับเท่าไหร่
อย่างไรก็ดี เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศไทยแน่นอน ซึ่งเวลานี้ในส่วนของเมียนมาก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เมียวดีฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอดของไทย แต่ก็ยังไม่คึกคักเช่นกันซึ่งไปงานมาหลายครั้งแล้ว โกดังก็ยังเก็บของแบบโบราณอยู่ ถนนเข้าไปยังนิคมฯ ก็ยังขรุขระ ยังล้าหลังกว่าไทย ขณะที่แม่สอดเริ่มมีคอมเพล็กซ์แล้ว เริ่มมีโน่นมีนี่ มีโรงแรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเตรียมรองรับ

 อีก 5 ปีพม่าลดนำเข้าไทย

"เมียนมาหรือพม่าเป็นประเทศที่ติดกับไทย สินค้าอุปโภค-บริโภคหลายอย่างพม่าต้องพึ่งไทย เพราะที่พม่ายังไม่มีโรงงานผลิต แต่นับจากนี้ไปอีก 5 ปีมองว่าพม่าจะซื้อของจากไทยน้อยลง เพราะโรงงานต่างๆ ที่ญี่ปุ่นไปตั้งที่นิคมฯ ติลาวา ในพม่า ก็จะเริ่มมีการผลิตสินค้าออกมา นอกจากนี้โรงงานต่างๆ รวมทั้งที่มะริดซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมประมงก็จะเริ่มมีผลผลิตออกมาอีก 5 ปี ประเทศไทยจะขายสินค้าให้พม่าได้น้อยลง"

ทั้งนี้เหตุผลเพราะว่า 1.จีนก็จะรุกเข้าไปในเมียนมา ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ เมียนมาจะไม่ค่อยชอบจีนเท่าไร แต่อนาคตจีนก็ต้องมีวิธีการทางการเมืองมาคุยกับเมียนมา เหมือนที่สหรัฐอเมริกาคุยกับไทย เอา TPP นำหน้ามาคุยกับไทย จีนก็ต้องใช้ RCEP เข้าไปคุยกับเมียนมา แล้วจีนกับเมียนมา จีนให้สิทธิพิเศษประเทศที่ติดกับชายแดนจีนเมื่อส่งของเข้าไปจะลดอากรขาเข้าให้ 50% จีนก็ไปตั้งโรงงานในเมียนมา ผลิตเสร็จแล้วส่งจากเมียนมาไปขายจีน ก็เหมือนที่ขณะนี้โรงงานจีนมาตั้งในไทย เมื่อเสร็จแล้วส่วนหนึ่งก็กลับไปขายจีน เพราะคนจีนไม่เชื่อมั่นในสินค้าจีน กลัวปลอม

 แม่สอด14 ตำบลที่ทองคำ

"เมื่อเป็นอย่างนี้เศรษฐกิจพม่าจะโต และปัจจุบันยังต้องค้าขายกับไทยอยู่ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งแม่สอด ของจังหวัดตากให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะเป็นจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษมากที่สุดใน 14 ตำบลของอำเภอสอด จำนวนพื้นที่เป็นแสนไร่ เป็นหลายพัน หลายหมื่นตารางกิโลเมตร เพราะฉะนั้น 14 ตำบลนี้จะกลายเป็นแหล่งทองคำ ที่ดินทองคำ แต่ที่เป็นที่ดินทองคำจริงๆ ก็คือ ที่ดินที่อยู่ในบริเวณแม่สอดที่เชื่อมกับพม่า และยิ่งที่ดินที่ติดกับสะพานใหม่ที่กำลังสร้างแพงจนจับไม่ติด"

จากประตูแม่สอดจะเจริญเติบโตได้อีกมาก ด้วยเหตุนี้ ขณะนี้ใครก็ตามที่ทำก่อนก็ได้เปรียบก่อน ทางฝั่งเมียวดีจึงมีคาสิโนเกิดขึ้นแล้ว มีดิวตี้ฟรีแล้ว ดังนั้นถ้านักลงทุนไทยสามารถไปจับจองที่ดินในเมียวดี ทำเป็นโลจิสติกส์พาร์ก หรือฝั่งแม่สอดทำเป็นโลจิสติกส์พาร์ก นั่นหมายความว่ามีศักยภาพอย่างมากรองรับการค้าในรูปของอาเซียน+6 หรือ RCEP เพราะอินเดียอยู่ในอาเซียน+6 จีนอยู่ในอาเซียน+6 ตรงนี้สองประเทศนี้ก็อยู่ในเส้นทางการค้าที่สามารถเข้าพม่า เข้าไทย และเข้าไปยังอาเซียนได้โดยทางบก นี่คือเหตุผลว่าทำไมที่ดินที่แม่สอดถึงได้แพง และรัฐบาลถึงกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10-13 มกราคม พ.ศ. 2559