‘สมาร์ทคาร์’มาเต็ม โตโยต้า-ฮอนด้า เพิ่มออพชันขยับตามค่ายเล็ก

03 ก.พ. 2561 | 13:52 น.
โตโยต้า-ฮอนด้า ได้ฤกษ์เสริมระบบยานยนต์อัจฉริยะให้รถยนต์ของตนเอง หลังจากกั๊กมานานหรือที่ผ่านมาเลือกใส่เฉพาะโมเดลราคาแพง รับกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

เมื่อรถยนต์ต้องเป็นมากกว่ายานพาหนะนำ พาผู้ขับขี่จากจุด A ไป สู่จุดB แต่ต้องมีความอัจฉริยะรอบด้าน ทั้งนี้เพื่อตอบสนองกับพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบของสังคมที่เปลี่ยนไป

mp32-3336-a ดังนั้นรถยนต์รุ่นใหม่ๆที่ทำตลาดจึงต้องมีทั้งระบบอำนวยความสะดวก ระบบความปลอดภัยที่ช่วยคิด ช่วยตัดสินใจแทนคนขับในเสี้ยววินาที ที่สำคัญยังต้องติดต่อกับโลกภายนอกด้วยการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต

ที่ผ่านมา ออพชันเหล่านี้มักถูกติดตั้งอยู่ในรถระดับหรู หรือราคาเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไปทว่าค่ายรถยนต์ขนาดกลางหรือขนาดเล็ก กลับมองเห็นเป็นช่องทางในการสร้างความแตกต่าง และชูเป็นจุดเด่นประเด็นขายโดยเริ่มติดตั้งมาในรถยนต์ที่ราคาเอื้อมถึงได้มาสักระยะแล้ว

อย่าง “มิตซูบิชิ” ที่ประเดิมใส่ระบบ FCM-LS เตือนการชนด้านหน้าตรง พร้อมระบบช่วยชะลอความเร็วอัตโนมัติ (ที่ความเร็วตํ่า) และ RMS-FORWARD ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะเมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เข้ามาในอีโคคาร์ “มิราจ” และ “แอททราจ” (มีในรุ่นท็อปเกรด) ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วซึ่งถือเป็นอีโคคาร์โมเดลแรกที่ใส่เทคโนโลยีนี้เข้ามา

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 ขณะที่นิสสัน จัดระบบที่มีหลักการทำงานคล้ายๆกันนี้เข้ามาในอีโคคาร์“โน๊ต” ที่เปิดตัวในปีที่แล้ว ทั้งระบบช่วยเตือนก่อนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกฉุกเฉินรวมถึงระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง พร้อมด้วยกล้องมองภาพรอบทิศทาง

ส่วน “เอ็มจี” มากับระบบ i-Smart ในครอสโอเวอร์รุ่น “แซดเอส” ที่สามารถตรวจสอบและสั่งงานรถผ่านแอพพลิเคชันผ่านสมาร์ทโฟน พร้อมรองรับการสั่งการด้วยเสียงภาษาไทยผ่านระบบ Voice command ภายในรถ
ล่าสุด 2 ค่ายใหญ่โตโยต้าและฮอนด้าเริ่มขยับเข้าสู่การเป็น “สมาร์ทคาร์” ด้วยการเสริมระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ และระบบเชื่อมต่อรถกับอินเตอร์เน็ต

โดยฮอนด้า แยกขายเป็นแพ็กเกจกับ“ฮอนด้า คอนเนค” ที่ทำงานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ประกอบด้วยฟังก์ชันเด่นๆเช่น แจ้งสถานะของรถ,ตรวจสอบตำแหน่ง, บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน และฟังก์ชันค้นหาและแชร์การเดินทาง รวมถึงบริการแจ้งข้อมูลข่าวสาร เช่นเตือนการต่อประกันภัยและภาษีรถยนต์ล่วงหน้า

ทั้งนี้ “ฮอนด้า คอนเนค” สามารถติดตั้งในรถยนต์ฮอนด้าโฉมปัจจุบันได้เกือบทุกรุ่น ยกเว้นกลุ่มไฮบริดและโมเดลนำเข้า ซึ่งลูกค้าต้องนำรถเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ที่ดีลเลอร์ มีค่าใช้จ่าย 5,900 บาท (ฟรีค่าติดตั้ง และค่าสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์เพื่อการส่งข้อมูลรายปี รวม 2 ปี)

728x90-03-3-503x62-3-503x62 ด้านพี่ใหญ่ “โตโยต้า” ที่เตรียมจัดเต็มกับครอสโอเวอร์รุ่นใหม่ “ซี-เอชอาร์” ทั้งระบบ Toyota Safety Sense และ TELEMATICS

สำหรับ Toyota Safety Sense ถือเป็นเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยที่รวบเอาระบบความปลอดภัยก่อนการชน ช่วยเตือนและเบรกให้อัตโนมัติ หากพบว่ามีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการชนด้านหน้า ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนพร้อมพวงมาลัยช่วยควบคุมทิศทางรถกลับเข้าเลนอัตโนมัติ และเรดาร์ครูสคอนโทรล ระบบควบคุมและปรับความเร็วอัตโนมัติ เพื่อรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากรถคันข้างหน้า ตลอดจนระบบควบคุมการเปิด-ปิดไฟสูงอัตโนมัติ

ส่วนระบบ TELEMATICS เชื่อมต่อรถยนต์กับสมาร์ทโฟน ด้วยแอพพลิเคชัน T-Connect & Find My Car มีฟังก์ชัน ช่วยตรวจสอบตำแหน่งของรถ,ระบบแจ้งเตือนเมื่อรถถูกขโมย,ระบบนำทาง,ระบบกระจายสัญญาณ Wi-Fi จากตัวรถเชื่อมต่อแกดเจ็ตไอทีต่างๆ,ระบบประสานงานช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชม.พร้อมจองร้านอาหาร เป็นต้น

โดยทั้ง 2 ระบบจะมาในซี-เอชอาร์ไฮบริดรุ่น ท็อป ส่วนรุ่นรองท็อปจะมีเฉพาะTELEMATICS

…จะเห็นว่าระบบยานยนต์อัจฉริยะและการเชื่อมต่อรถกับอินเตอร์เน็ต(สมาร์ทโฟน)เหล่านี้มีฟังก์ชันคล้ายๆกัน ต่างกันเพียงชื่อเรียก ซึ่งนับจากนี้ไปคนไทยย่อมมีโอกาสใช้กันอย่างแพร่หลายในรถยนต์ที่ราคาเข้าถึงได้มากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว