ชง15 จ.ตั้งนิคมฯกำจัดกาก รองรับอุตสาหกรรม6ภูมิภาค

13 ม.ค. 2559 | 07:00 น.
กรมโรงงานฯ เตรียมรายงานยุทธศาสตร์กำจัดกากอุตสาหกรรม ให้ครม.ทราบภายในม.ค.นี้ หลังศึกษาพื้นที่ตั้งนิคมฯทั้ง 6 แห่ง แล้วเสร็จ พบพื้นที่ 15 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค มีความเหมาะสม ส่งเรื่องให้ กนอ.เร่งดำเนินงาน ขณะที่เตาเผาร่วมทุนกับญี่ปุ่น 1.8 พันล้านบาท คาดคัดเลือกผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยได้กลางม.ค.นี้

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่กรมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี (2558-2562) โดยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากอุตสาหกรรมถือเป็น 1 ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการรองรับปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายและไม่อันตรายในอนาคต 20 ปีข้างหน้านั้น ทางกรอ.จึงได้ทำการศึกษาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมใน 6 แห่ง เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา และขณะนี้ได้แล้วเสร็จ และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าภายในเดือนมกราคมนี้

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในการตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมรองรับการกำจัดกากจะอยู่ใน 15 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ จะอยู่ในจังหวัดลำพูน และลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น ภาคตะวันตก อยู่ในจังหวัดราชบุรี ตาก และกาญจนบุรี ภาคกลางอยู่ในจังหวัดสระบุรีและสมุทรสาคร ภาคตะวันออกอยู่ในจังหวัดชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว และภาคใต้อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา

โดยปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณกากอุตสาหกรรมประมาณ 37.42 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นกากอันตราย 2.84 ล้านตันต่อปี และกากไม่อันตราย 34.57 ล้านตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีกากอันตรายที่เข้าสู่ระบบการกำจัดกากแล้วประมาณ 1.3 ล้านตัน ส่วนกากไม่อันตรายเขาสู่ระบบประมาณ 25.75 ล้านตันต่อปี ซึ่งการจัดตั้งนิคมฯกำลังกากขึ้นมา เพื่อเป็นการรองรับปริมาณกากที่จะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

"สำหรับการคัดเลือกพื้นที่ตั้งนิคม ทั้ง 6 แห่งนี้ ได้มีการพิจารณาจากพื้นที่ที่มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มีปริมาณกากอุตสาหกรรมเพียงพอที่จะคุ้มในการลงทุนกำจัดกาก และอยู่ในระยะทางที่ไม่ไกลจากแหล่งอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งไม่แพงจนเกินไป ขณะที่การลงทุนจัดตั้งนิคมนั้น ได้ส่งผลการศึกษาไปให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เพื่อไปจัดทำหลักเกณฑ์ในการเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจให้เข้ามาลงทุน และการจัดหาสถานที่ตั้งนิคมแล้ว โดยนิคมที่จัดตั้งนั้นจะเป็นลักษณะแบบครบวงจร ทั้งการกำจัดกา โรงงานรีไซเคิล รวมไปถึงการนำกากของเสียมาผลิตไฟฟ้า เป็นต้น"

นายพสุ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้า เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเตาเผาขยะร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) มูลค่าการลงทุน 1.8 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้ทำการศึกษาถึงความคุ้มค่าและเหมาะสมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คาดว่าจะใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากมีความพร้อมและอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ ที่จะใช้กากอุตสาหกรรม 350 ตันต่อวัน และขยะชุมชน 150 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญชวนและคัดเลือกเอกชนที่จะมาเข้าร่วมโครงการประมาณ 9 ราย ที่จะเข้ามาร่วมทุนกับภาคเอกชนของญี่ปุ่น คาดว่าจะทราบผลประมาณกลางเดือนมกราคมนี้

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า ในการจัดตั้งนิคมฯกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่ง นั้นทางกนอ.อยู่ระหว่างการเตรียมการที่จะจัดทำแผนหรือหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งนิคมฯขึ้นมา โดยเฉพาะการจัดหาพื้นที่ตั้งที่เหมาะสม ซึ่งในส่วนของการตั้งนิคมฯ กำจัดกากในส่วนของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ทาง กนอ.ก็ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น(เอ็มโอยู)กับทางบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์กรีน จำกัด(มหาชน) หรือ BWGซึ่งดำเนินธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อศึกษาและพัฒนานิคมฯกำจัดกากแล้ว โดยจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาในการไปรวบรวมพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ และศึกษาถึงความเป็นไปได้แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10-13 มกราคม พ.ศ. 2559