‘เมียนมา’เตรียมเปิดสภา 1 ก.พ. พร้อมอภิปรายแผนพัฒนา 20 ปี

13 ม.ค. 2559 | 04:00 น.
ดร.คัน ซอว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเมียนมา เปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดทำแผนพัฒนาแห่งชาติฉบับสมบูรณ์ที่จะใช้ในช่วงเวลา 20 ปีตั้งแต่ปีค.ศ. 2010-2030 เสร็จสมบูรณ์แล้วและพร้อมยื่นเสนอให้กับรัฐสภา แผนดังกล่าวจะเป็นกรอบแนวทางสำหรับการพัฒนาประเทศเมียนมาในระยะยาว โดยหลักๆจะเน้นนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ แผนพัฒนาฉบับนี้ยังระบุถึงสิ่งที่เป็นความท้าทายหรืออุปสรรคการพัฒนาในระยะ 20 ปี ยกตัวอย่างเช่น ความอ่อนแอไร้สมรรถนะขององค์กรภาครัฐ ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันของภูมิภาคต่างๆในเมียนมาเอง และการคมนาคมขนส่งที่ล้าหลัง เป็นต้น

อุปสรรคของการพัฒนาที่สำคัญอีกประการ คือ ศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐที่ยังไม่ได้มาตรฐานมากพอ นั่นหมายถึงความจำเป็นต้องเพิ่มการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการบริหารจัดการให้กับบุคลากรภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เพื่อจะสามารถนำพาเศรษฐกิจของเมียนมาเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แผนพัฒนาฉบับ 20 ปีนี้ยังได้ระบุถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในภาวะขาดทุนหลายแห่ง และความอ่อนแอของกฎหมาย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการทำธุรกิจการค้าทั้งนี้ แผนพัฒนาดังกล่าวจะแบ่งเป็น 4 ช่วงๆละ 5 ปี เมื่อมีการนำเสนอแผนเข้าสู่สภา สมาชิกสภาก็สามารถขอใช้สิทธิ์ในการอภิปรายเกี่ยวกับแผนนี้

สื่อของเมียนมารายงานว่า การเปิดสภาสำหรับการประชุมครั้งแรกของบรรดาสมาชิกสภาที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กำหนดมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ โดยสมาชิกสภาจะต้องเข้ารายงานตัวก่อนในวันที่ 26 มกราคม สมาชิกสภาล่างมีจำนวน 322 คนจาก 11 พรรคการเมืองและมีผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรค 1 คน ส่วนสมาชิกสภาสูงมี 166 คนจาก 9 พรรคการเมืองและ 2 ผู้สมัครอิสระ รัฐสภาหรือสภาแห่งสหภาพนั้นประกอบด้วยสภาล่างและสภาสูง มีจำนวนสมาชิกรวมทั้งสิ้น 657 คน ซึ่งนอกจากสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแล้วยังมีส่วนที่เหลือที่มาจากโควตาการแต่งตั้งตัวแทนจากฝ่ายกองทัพ

ในส่วนของพรรคเอ็นแอลดี หรือ สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของนางอองซาน ซูจี มีที่นั่งในสภาล่าง 255 ที่นั่งและในสภาสูง 135 ที่นั่ง จึงมีสิทธิ์ที่จะเสนอชื่อแต่งตั้งรองประธานาธิบดีจำนวน 2 คนจากทั้งหมด 3 คน ส่วนการเสนอชื่อประธานาธิบดีและจัดตั้งรัฐบาลนั้นต้องมีเสียงสนับสนุน 329 คะแนนเสียงซึ่งทางพรรคเอ็นแอลดีก็มีเสียงเพียงพอ ขณะที่พรรคยูเอสดีพีซึ่งเป็นพรรคแกนนำของรัฐบาลชุดปัจจุบัน (ที่กำลังจะหมดวาระลงในเร็วๆนี้) มีที่นั่งในสภาล่างและสภาสูงเพียง 30 ที่นั่งและ 11 ที่นั่งตามลำดับ แต่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่บริหารประเทศ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ลงจากตำแหน่งในวันที่ 31 มีนาคมศกนี้เสียก่อน

สื่อเมียนมาระบุว่า ถึงแม้หลายฝ่ายจะจับตาการเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองในเมียนมา และรอคอยที่จะเห็นโฉมหน้าของประธานาธิบดีคนใหม่และรัฐบาลใหม่ที่คงต้องรอไปอีกราว 2 เดือนนับจากนี้ แต่ในส่วนของนักลงทุนและธุรกิจภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทต่างชาตินั้น สถิติล่าสุดสะท้อนเห็นได้ชัดว่า ไม่ได้มีความลังเลที่จะเข้ามาเปิดประตูการค้า-การลงทุนกับเมียนมา

ทั้งนี้ สถิติล่าสุดของคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา หรือ เอ็มไอซี ( Myanmar Investment Commission: MIC) ชี้ว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา มีบริษัทผู้ลงทุนของท้องถิ่นและผู้ลงทุนจากต่างประเทศได้รับการอนุมัติจากเอ็มไอซีให้สามารถดำเนินกิจการการลงทุนจำนวน 258 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการในภาคอุตสาหกรรมการผลิต

เช่น โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์สำหรับที่อยู่อาศัย โรงงานผลิตของตกแต่งบ้านที่ทำจากไม้ โรงงานผลิตไม้อัด โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงเพิ่มมูลค่า โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานผลิตแว่นตา โรงงานผลิตยา ส่วนภาคบริการได้แก่ บริษัทรับก่อสร้างอาคารสูง โรงแรมมาตรฐานระดับสากล และบริษัทผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกิจการด้านการทำเหมือง รวมทั้งการสำรวจ-ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนสู่เมียนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไอเอ็มซีได้นำมาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติซึ่งเป็นมาตรการระยะยาวมาใช้ พร้อมทั้งตั้งเป้าว่าจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2.1 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2558-2559 นี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10-13 มกราคม พ.ศ. 2559