แนะ SMEs เร่งพัฒนาธุรกิจ เพิ่มทักษะคนงานรับค่าแรงขึ้น-เพิ่มขีดความสามารถ

03 ก.พ. 2561 | 09:30 น.
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรับการปรับขึ้นค่าแรงกระทบธุรกิจเอสเอ็มอี แนะต้องตื่นตัวพร้อมพัฒนาธุรกิจ เพิ่มทักษะแรงงานดันผลผลิตให้เพิ่มมากขึ้น เชื่อช่วยรับมือได้ ด้านแมนพาวเวอร์ระบุเพิ่มโอที และนำเครื่องจักรมาเสริมบางส่วน

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยยอมรับว่า เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าเพิ่มขึ้น 5-22 บาทตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 9 อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็จะต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาปรับปรุงธุรกิจของตนเอง และหากมีการพัฒนาส่งเสริมทักษะแรงงานให้เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าประเด็นเรื่องของการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าจะไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจ

[caption id="attachment_255033" align="aligncenter" width="335"] พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

ทั้งนี้เอสเอ็มอีก็จะต้องมีการพัฒนาสถานประกอบการเพื่อเพิ่มผลผลิต (Productivity) ให้มากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาครัฐก็มีวาระ (Agenda) ที่เกี่ยวกับเอสเอ็มอีค่อนข้างชัดเจน โดยมาตรการส่งเสริมส่วนหนึ่งก็คือการทำให้เอสเอ็มอีมีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของผลผลิตซึ่งสถานประกอบการจะต้องพัฒนาตนเอง และตรวจสอบผลิตภาพอย่างสมํ่าเสมอไม่ให้หยุดนิ่งอยู่กับที่ เพื่อให้สอดรับกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าที่มีการปรับขึ้น

“ค่าครองชีพที่มีการปรับขึ้นในทุกปี ความคาดหวังของกลุ่มผู้ใช้แรงงานก็เป็นเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรง โดยหากผู้ประกอบการดำเนินการทุกปีอย่างต่อเนื่องในส่วนของการเพิ่มผลผลิตประมาณ 5-10% ต่อปี ก็จะไม่ต้องมีความเป็นห่วงเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าเลย โดยช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ดีหากจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพมากขึ้น”

728x90-03-3-503x62-3-503x62 นายพสุ กล่าวต่อไปอีกว่า เอสเอ็มอีจะต้องกลับไปพิจารณาว่า ปัจจุบันผลิตภาพเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเสีย ต้นทุนในการผลิต และอีกหลายปัจจัยที่เป็นตัวชี้วัดผลิตภาพ จะต้องตรวจสอบว่าจะสามารถทำอย่างไรให้ตัวเลขเหล่านี้อยู่ในจุดที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ และเพิ่มการพัฒนาบุคลากรควบคู่กันไป โดยจะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

“การปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นตํ่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่สถานประกอบการ ภาครัฐ สหภาพแรงงานจะต้องช่วยกันคุย เพราะค่าครองชีพเองก็ต้องมีการขยับขยายขึ้นไป”

อย่างไรก็ดี เอสเอ็มอีสามารถหาช่องทางในการพัฒนาตนเองได้จากมาตรการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านหน่วยงานต่างๆ โดยที่ไม่ต้องมีมาตรการเสริมออกมาเพื่อรองรับการปรับขึ้นของค่าแรงขั้นตํ่า เพียงแต่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความใส่ใจในการเข้าหา ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่มีอยู่ทั่วประเทศทุกจังหวัด อีกทั้งล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมออก 9 มาตรการในการเสริมแกร่งเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นการมอบคูปองเสริมแกร่งธุรกิจเอสเอ็มอีวงเงิน 30,000 บาทต่อราย และการนำระบบเทคโนโลยีมาเพิ่มความสะดวกในการอนุมัติอนุญาตรองรับอุตสาหกรรม 4.0 อาทิ ลดระยะเวลาการออกใบอนุญาตมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) จาก 46 วันเหลือ 10 วัน และพัฒนาระบบข้อมูลกลางโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เป็นต้น

[caption id="attachment_255036" align="aligncenter" width="304"] สุธิดา กาญจนกันติกุล สุธิดา กาญจนกันติกุล[/caption]

สอดคล้องกับความคิดเห็นของนางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์ กรุ๊ประบุว่า ในลำดับแรกเอสเอ็มอีจะต้องบริหารจัดการแรงงานให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดให้มีการทำงานนอกเวลา หรือโอที (OT) รวมถึงการฝึกอบรม เพื่อให้แรงงานมีทักษะในการทำงานที่หลากหลาย นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการนำระบบออโตเมชันบางส่วนเข้ามาปรับใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการใช้แรงงานมนุษย์

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของนายจ้างที่เป็นผู้ประกอบการพบว่าหากค่าแรงขั้นตํ่าปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% ก็ยังถือว่าพอจะแบกรับต้นทุนไหว เพราะแต่ละรายก็มีนโยบายในการควบคุมต้นทุนโดยไม่เพิ่มจำนวนพนักงาน แต่ใช้วิธีการให้ทำงานนอกเวลา หรือโอที (OT) แทน รวมถึงเน้นการบริหารประสิทธิภาพระหว่างงานให้พนักงานหมุนเวียนในการทำงาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9