ซีอีโอซีเมนส์แนะรับมืออุตสาหกรรม4.0

03 ก.พ. 2561 | 09:18 น.
โจ เคเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ฯยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากเยอรมนี กล่าวในเวทีเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ปีนี้ ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า อุตสาหกรรม 4.0 นั้น แม้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในอารยธรรมโลกเลยก็ว่าได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในทุกกิจกรรมชีวิตของมนุษย์

“ลองคิดดูง่ายๆ เพียงแค่ 10 ปีที่แล้ว โลกยังไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน แล้วตอนนี้เป็นอย่างไร?ไม่มีใครออกจากบ้านโดยไม่มีมัน” และเมื่อไม่กี่สิบปีที่แล้ว โลกอินเตอร์เน็ตยังเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เพียงไม่กี่เครื่อง แต่ทุกวันนี้ มนุษย์แทบจะทุกคนสามารถเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายบนอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกันไปทั่วโลก ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารและความรู้ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยมีมา

แน่นอนว่า พลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ย่อมนำความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่ากันแถมพ่วงมาด้วย ถ้าหากมนุษย์สามารถบริหารจัดการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ว่านี้ได้อย่างเหมาะสมลงตัว ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก แต่ถ้าดำเนินการผิดพลาด สังคมโลกก็จะมีผู้ชนะและผู้แพ้ เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคมเพราะฉะนั้น อุตสาหกรรม 4.0 จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีและการทำธุรกิจ แต่มันเป็นเรื่องของ “สังคม”

[caption id="attachment_255020" align="aligncenter" width="389"] โจ เคเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ฯยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากเยอรมนี โจ เคเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ฯยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากเยอรมนี[/caption]

เป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อคอมพิวเตอร์สามารถเอาชนะเซียนหมากล้อมที่เป็นมนุษย์ หุ่นยนต์สามารถเขียนข้อความ และเครื่องจักรกลสามารถ “สื่อสาร” ระหว่างกัน นั่นไม่ได้หมายความว่าหุ่นยนต์และจักรกลจะครองโลก แต่มนุษย์ต่างหากที่กำลังเขียนรหัสสร้างอนาคตของโลกที่เป็นหนึ่งเดียวกัน สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วในภาคอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรม 4.0 ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถสร้าง “คู่แฝดดิจิตอล” ของทั้งระบบการผลิต พวกเขาสามารถออกแบบ จำลองแบบ และทดสอบผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนละเอียดอ่อนได้ในรูปแบบดิจิตอล ก่อนที่จะสั่งผลิตสินค้าต้นแบบออกมาจริงๆ หรือแม้แต่ก่อนที่จะสั่งติดตั้งเครื่องจักรในสายการผลิตด้วยซํ้า ซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยสร้างความเป็นไปได้ในทุกกระบวนการและทุกปฏิบัติการ หุ่นยนต์และจักรกลยังสามารถเป็นตัวเชื่อมระหว่างการทำงานบนแพลตฟอร์มของโลกเสมือน (virtual world) และโลกจริงอย่างไร้รอยต่อ หรือที่เรียกว่า cyber- physical-systems ซึ่งเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก อุตสาหกรรม 4.0 จะทำให้หลายล้านตำแหน่งงานหายไป แต่จะสร้างหลายล้านตำแหน่งงานใหม่เข้ามาแทนที่เช่นกัน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงนี้

ประการแรกคือ การเรียนรู้จากอดีตและวางรากฐานแนวคิดใหม่เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนจะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง เช่นในอดีตระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีแบบสังคมนิยมของอัลเฟร็ด มุลเลอร์ อาร์มัค เป็นต้นแบบที่ทำให้เยอรมนีกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมาจนทุกวันนี้ โดยระบบดังกล่าวสนับสนุนสังคมที่เปิดเสรี และกระจายโอกาสให้กับทุกคนสามารถเข้าถึงความเจริญและความมั่งคั่งทั่วถึงกัน ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า inclusive society เป็นที่ยอมรับว่าคือแนวทางที่ยั่งยืน ผู้ประกอบการเองต้องยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจพร้อมๆไปกับการเพิ่มมาตรฐานในการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งชี้วัดความสำเร็จของผลประกอบการนั้น ต้องพิจารณามูลค่าหุ้น (stock value) คู่ไปกับคุณค่าของบริษัทที่มีต่อสังคม (social value)

728x90-03-3-503x62-3-503x62 ประการต่อมาคือต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาและการฝึกอบรม เป็นเรื่องที่ภาครัฐและผู้ประกอบการต้องร่วมมือกันเพื่อยกระดับทักษะและความสามารถของบุคลากรเพื่อก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล พวกเขาต้องสามารถมองเห็นโอกาสในสภาพการทำงานที่แวดล้อมด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพราะถ้าพวกเขาก้าวไม่ทัน แล้วใครจะมาทำตำแหน่งงานใหม่ที่เกิดขึ้นนับล้านๆ อัตรา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมและปรับตัวให้ทัน เทคโนโลยีดิจิตอลจะกระแทกผู้ที่ปรับตัวไม่ทัน และจะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เราคงเคยได้ยินคำว่า “อินเตอร์เน็ตทำให้คนกลางหายไป” เรื่องนี้ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ และสังคมรูปแบบใหม่ด้วยเช่นกัน อาทิ สังคมแห่งการปันกันใช้ (sharing society) ไม่ว่าจะเป็นที่พัก รถยนต์ หรืออื่นๆ และประการสุดท้ายเป็นเรื่องของผู้นำรัฐบาลที่จะต้องขบคิดประเด็นสำคัญเพื่อหาทางออกที่ดี เช่นประเด็นที่ว่าจะทำอย่างไรกับคนที่ตกงานเพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะต้องประกันรายได้ขั้นตํ่าแค่ไหน ต้องเก็บภาษีซอฟต์แวร์และหุ่นยนต์ไหม บริษัทที่ทำแพลตฟอร์มไอทีระดับโลกต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายของแต่ละประเทศอย่างไร เสรีภาพในโลกดิจิตอลควรมีขอบเขตแค่ไหน เหล่านี้เป็นคำถามที่ควรได้รับการไตร่ตรองให้ดีเพื่อหาคำตอบที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนยุคนี้และยุคต่อๆ ไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9