ยุครม.ควํ่าร่างกฎหมายนํ้า อธิบดีอ้างหลักการเพี้ยน-วิปสนช.อัดขวางทาง

04 ก.พ. 2561 | 04:01 น.
กฎหมายนํ้าส่อวุ่น “อธิบดีกรมทรัพยากรนํ้า” ยุครม.ควํ่าร่างกฎหมายที่ กมธ.ปรับแก้ไขแล้ว อ้างขัดหลักเจตนาเดิม และหลักวิชาการ หวั่นลามกระทบกฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้แล้ว สนช. สวดยับร่วมประชุมน้อยครั้งยังขวาง เคาะฟังความคิดเห็น 21 ก.พ.ก่อนชงครม.

ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... ได้มีมติที่ประชุมครั้งที่ 7/2561 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2561 มอบให้กรรมาธิการฯ พิจารณาเสนอความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... มาตรา 1-มาตรา 100 ตามที่ได้พิจารณาปรับแก้ไขแล้วจำนวน 33 หน้าว่ามีความเห็นอย่างไรนั้น

แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางนายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรนํ้า ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... ในฉบับคณะกรรมาธิการฯ ปรับแก้ไขแล้วเห็นว่าการแก้ไขดังกล่าว เป็นการแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญของร่างกฎหมายให้มีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไว้แล้ว รวมถึงเป็น การขัดต่อหลักการของเนื้อหาสาระร่าง พ.ร.บ. ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณารับหลักการเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 ไว้ อาจเข้าข่ายเป็นการแก้ไขเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... ฉบับใหม่ โดยมิได้ผ่านกลไกตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

TP08-3336-2B ทั้งนี้นายวรศาสน์เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติ ฉบับคณะกรรมาธิการฯ ปรับแก้ไขดังกล่าวมีผลกระทบต่อเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ...และขัดต่อหลักวิชาการ รวมถึงมีผลกระทบต่อกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติไว้แล้ว นอกจากนั้นยังมีผลต่อโครงสร้างการบริหารจัดการที่ให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศต้องมาทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติในการพิจารณาทางปกครองในการพิจารณาอุทธรณ์การออกคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) รวมถึงออกคำสั่งทางปกครองส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเท่ากับให้ผู้บริหารสูงสุดของประเทศและหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีวัตถุประสงค์เป็นหน่วยงานทำหน้าที่เฉพาะด้านนโยบายการบริหารจัดการนํ้าของประเทศเท่านั้น มาทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติ

โดยการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวไม่แตกต่างจากภารกิจที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทรัพยากรนํ้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2545 และกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการ กรมทรัพยากรนํ้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 และเป็นการขัดต่อวัตถุ ประสงค์การจัดตั้งหน่วยงานตามคำสั่งคสช. ซึ่งในระหว่างการพิจารณา ทั้งอธิบดีกรมทรัพยากรนํ้า และผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมแทนได้ให้ความเห็นแย้งในประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด

728x90-03-3-503x62-3-503x62 “ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯได้ประชุมกว่า 100 ครั้ง แต่อธิบดีเข้าร่วมประชุม 46 ครั้ง ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมประชุมทำงานกันอย่างหามรุ่งหามคํ่า เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เสร็จทันตามกำหนด มองว่ามาทำแบบนี้ถือเป็นการขัดขวาง ซึ่งในส่วนของ สทนช.แม้จะเป็นสำนักงานใหม่ แต่ก็ล้อตามร่างกฎหมายที่ปรับแก้ ส่วนกรมทรัพยากรนํ้าก็ยังมีภารกิจอยู่ เพียงแต่นโยบายก็ให้หน่วยงานใหม่ทำไป”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ทางคณะกรรมาธิการ จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 42 หน่วยงานพร้อมคณะกรรมการลุ่มนํ้า 25 ลุ่มนํ้าที่กรมชลประทาน คาดจะมีผู้เข้าร่วมฟังราว 150 คน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรับแก้ร่างฯอีกครั้ง ก่อนส่งเรื่องสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อนำไปผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ

อนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.กรมทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... ที่เสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กรมทรัพยากรนํ้า เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรนํ้า ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... จัดตั้ง สทนช.ขึ้นใหม่ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี แล้วให้ เลขาฯ สทนช. เป็นเลขานุการของคณะทรัพยากรนํ้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9